นโยบายห้ามส่งออกข้าวหลายประเภทที่รัฐบาลอินเดียนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวในประเทศแพง และความกังวลเรื่องผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะน้อยลงในปีนี้ อาจส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่กำลังเกิดปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลก
ปัจจุบัน อินเดียคือผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 40% ของปริมาณข้าวทั้งหมดในตลาดโลก โดยมีปลายทางอยู่ที่ 140 ประเทศ
เมื่อวันพฤหัสบดี รัฐบาลอินเดียประกาศว่า ราคาข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น 11.5% จากปีที่แล้ว และ 3% ในช่วงเวลาหนึ่งเดือน จึงได้นำมาตรการห้ามการส่งออกข้าวมาใช้เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาและปริมาณข้าวในประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ทันที
การตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียมีขึ้นหลังจากที่รัสเซียเพิ่งประกาศถอนตัวจากข้อตกลงขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำ ทำให้เกิดความกังวลว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รวมทั้งข้าวและข้าวสาลี อาจสูงขึ้นเร็ว ๆ นี้ ตามรายงานของสื่อ The Indian Express
"อินเดียเคยส่งออกข้าวราว 22.5 ล้านตัน แต่ขณะนี้ลดลงเหลือเพียง 10 ล้านตันเท่านั้น" สื่อดังกล่าวระบุ ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่านโยบายนี้จะถูกนำมาใช้ต่อเนื่องอีกหลายเดือนเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในอินเดียด้วย
ทั้งนี้ ราคาอาหาร โดยเฉพาะข้าวและข้าวสาลี ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับประชาชนอินเดีย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในปีนี้และปีหน้า
นักวิเคราะห์กังวลด้วยว่า ฤดูมรสุมปีนี้อาจส่งผลเสียหายต่อผลผลิตข้าวจำนวนมากที่ปลูกเมื่อเดือนมิถุนายนและจะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวในประเทศได้
เดวินเดอร์ ชาร์มา นักวิเคราะห์ด้านการเกษตร กล่าวกับวีโอเอว่า "ปีนี้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมหลายพื้นที่ในรัฐปัญจาบและหรยาณาซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ" นอกจากนี้ยังมีความวิตกเรื่องผลกระทบของปรากฏการณ์ "เอลนีโญ่" ที่อาจทำให้เกิดสภาพอากาศแห้งแล้งและร้อนอบอ้าวในเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งส่งออกข้าวสำคัญของโลก
"รัฐบาลอินเดียทำถูกต้องแล้วที่ระมัดระวังในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น" ชาร์มากล่าว
- ที่มา: รอยเตอร์