Your browser doesn’t support HTML5
ระบบสาธารณสุขของอินเดียเข้าขั้นวิกฤตหนักหลังจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเพิ่มขึ้นราว 360,000 คนภายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลทำให้อินเดียมีผู้ป่วยสะสมเกิน 20 ล้านคนตามสถิติล่าสุดของสำนักข่าวรอยเตอร์
สถานพยาบาลตามเมืองใหญ่ๆยังคงประสบปัญหาการรองรับผู้ป่วยและการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
แม้อินเดียจะเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลก และทางรัฐบาลได้ประกาศขยายโครงการการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 44 ปีเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้
ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ยังคงแสดงความวิตกกังวลถึงกำลังการผลิตที่สามารถทำได้เพียง 70 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งไม่พอที่จะรองรับความต้องการของประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกได้
ประธานองค์กร Public Health Foundation ในกรุง นิวเดลี นาย เค ศรีนาญ เร็นดี้ บอกกับ วีโอเอว่า “การขยายวัคซีนให้กลุ่มวัยผู้ใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่มเติมจากกลุ่มผู้สูงอายุ หมายความว่าอินเดียต้องมีวัคซีนราว 1.2 พันล้านโดสเพื่อครอบคลุมประชากรถึง 595 ล้านคนในสองกลุ่มนี้ แต่ขณะนี้ ประเทศอินเดียมีวัคซีนในสต็อกน้อยกว่านั้นมาก รัฐต่างๆจึงไม่สามารถขยายโปรแกรมการฉีดวัคซีนให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ได้ เพราะต้องรุดหน้าฉีดวัคซีนให้กับคนสูงอายุที่มีความเสี่ยงในการติดโควิดมากกว่า”
ยกตัวอย่างเมืองใหญ่ๆในอินเดียที่ประสบปัญหาข้างต้นอย่างหนัก เช่น เมืองมุมไบ ที่ถึงขั้นทำการระงับการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นเวลาหลายวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ เมืองดังกล่าวได้เข้าร่วมโครงการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ที่มีประมาณ 5 ล้านคน แต่สต็อกวัคซีนกลับมีเพียงแค่ 2,500 โดสต่อวันเท่านั้น
ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนและทรัพยากรทางการแพทย์
นักวิเคราะห์หลายคนวิจารณ์รัฐบาลถึงความล้มเหลวในการระดมวัคซีนในสต็อก การไม่ลงทุนสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ พร้อมทั้งกล่าวโทษว่ารัฐบาลการ์ดตกในช่วงต้นปีซึ่งเวลานั้น จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศได้ลดลงมากจึงมีการประกาศชัยชนะจากการระบาดของโคโรนาไวรัส และเริ่มส่งออกวัคซีนของอินเดียไปช่วยเหลือชาติอื่นแทน
ประธานองค์กร Public Health Foundation บอกว่า “รัฐบาลคงไม่ได้คิดว่าอินเดียจะเผชิญกับการระบาดรอบที่สองจึงคิดว่าการส่งวัคซีนไปกว่า 80 ประเทศเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และไม่น่าเกิดปัญหาอะไร”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียได้ระงับการส่งออกวัคซีนไปยังนานาประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว และ ได้ขอความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ยุโรป และ ญี่ปุ่น ให้บริจาควัคซีนให้กับอินเดีย โดยสัปดาห์นี้ อินเดียได้นำเข้าวัคซีน สปุตนิก วี ชุดแรกจากประเทศรัสเซียแล้ว และจะมีการเร่งการผลิตวัคซีนดังกล่าวในอินเดียอีกด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้ให้เงินช่วยเหลือด้านการผลิตกับบริษัทยาใหญ่ยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งในประเทศ ได้แก่ Serum Institute of India ซึ่งผลิตวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา และ บริษัท ภารัต ไบโอเทค ทั้งนี้ วัคซีนที่ผลิตในประเทศจะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะมีการแจกจ่ายให้กับประชาชนได้
นายอดาร์ พูณะวัลลา ซีอีโอวัย 40 ปีของ Serum Institute of India ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Financial Times ของอังกฤษว่า บริษัทจะเพิ่มการผลิตวัคซีนให้มากขึ้น แต่การขาดแคลนวัคซีนจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม
ทั้งนี้ เขากล่าวต่อว่า “เหตุผลที่ทางบริษัทไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตช่วงก่อนหน้านี้ก็เพราะว่าไม่มีคำสั่งจากรัฐบาล และ ไม่มีใครคาดคิดว่าอินเดียจะต้องเจอกับการระบาดระลอกใหม่ที่ทำให้ความต้องวัคซีนพุ่งเกิน 1 พันล้านโดสต่อปี เกินกว่าเป้าการผลิตที่บริษัทเคยตั้งไว้”
ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศว่าประชาชนชาวอินเดียประมาณ 300 ล้านคนจะได้รับวัคซีนภายในเดือนสิงหาคมนี้ แต่โปรแกรมดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตั้งแต่ต้นปีมานั้น ประชากรแค่เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดได้รับวัคซีนครบโดส และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ได้รับเพียงโดสเดียว ประชาชนส่วนใหญ่ขาดการป้องกันเมื่อการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดถึง 7 ล้านคนในเดือนเมษายน