รัฐบาลกลางอินเดียยืนยันว่าไม่ได้ห้ามส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 หลังมีกระแสวิจารณ์ว่ารัฐบาลอินเดียกำหนดข้อจำกัดต่อบริษัทอินเดียที่คาดว่าจะเป็นผู้ส่งออกวัคซีนให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ
ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุด และคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ในการเริ่มโครงการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม หลังทางการอินเดียอนุมัติวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่พัฒนาในอินเดียเมื่อวันอาทิตย์ สื่ออินเดียรายงานว่า ทางการจะไม่อนุญาตให้ส่งออกวัคซีนเป็นเวลาหลายเดือน
ราเจช ภูชาน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ระบุว่า รัฐบาลอินเดียไม่ได้ห้ามส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 โดยระบุว่ากระแสข่าวที่ออกไปนั้นเป็น “ข้อมูลบิดเบือน”
บริษัทอินเดียที่ผลิตวัคซีนสองบริษัท ได้แก่ บริษัท Serum Institute of India และบริษัท Bharat Biotech ระบุในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอังคารว่า จะผลิตวัคซีนเพื่อให้ใช้ได้ทั่วโลก โดยภารกิจที่สำคัญของบริษัทต่อจากนี้คือการช่วยชีวิตของผู้คนทั้งในอินเดียและทั่วโลก
ในขณะนี้ ทั่วโลกจับตามองบริษัท Serum Institute of India ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนให้บริษัทแอสตราเซเนกา โดยโฆษกของทางบริษัทระบุว่า บริษัทตั้งเป้าผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดสในปีนี้ และเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนจาก 60-70 ล้านโดสต่อเดือนเป็น 100 ล้านโดสต่อเดือน ภายในเดือนมีนาคม นอกจากนี้บริษัทยังมีวัคซีนเก็บไว้ 50 ล้านโดสก่อนที่ทางการอินเดียจะอนุมัติวัคซีนแล้วด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มใช้วัคซีนกับชาวอินเดียก่อน ซึ่งทางการอินเดียตั้งเป้าว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาวอินเดีย 300 ล้านคนให้ได้ภายในเดือนสิงหาคม
อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายวัคซีนให้ประเทศในเอเชียและแอฟริกานั้น จะขึ้นอยู่กับว่าประเทศเหล่านั้นทำข้อตกลงรับซื้อวัคซีนจากบริษัทอินเดียอย่าง Serum Institute of India ได้เร็วแค่ไหน โดยขณะนี้ ทางบริษัทได้ทำสัญญาขายวัคซีน 500 ล้านโดสให้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจับตามองสถานการณ์วัคซีนจากอินเดียนี้ด้วยเช่นกัน โดยแอนเดรีย ดี. เทย์เลอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำศูนย์ Innovation Global Health Center มหาวิทยาลัย Duke ระบุว่า บทบาทนำของอินเดียในการพัฒนาวัคซีน อาจเป็นกุญแจสำคัญของการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา โดยอินเดียมีทั้งวัคซีนที่ผลิตไว้แล้วจำนวนมาก และยังตั้งเป้าผลิตวัคซีนอีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ทั้งนี้ ในขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดา สามารถทำข้อตกลงรับวัคซีนที่มีปริมาณเพียงพอต่อประชากร และเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนากลับไล่ตามหลังอยู่ เนื่องจากกำลังมองหาแหล่งวัคซีนที่มีราคาที่เข้าถึงได้
สำหรับบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนานั้น วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากวัคซีนตัวนี้สามารถเก็บรักษาในตู้เย็นทั่วไปได้ และมีราคาถูกกว่าวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และบริษัทโมเดอร์นา (Moderna)
องค์กรพันธมิตรโลกเพื่อพัฒนาวัคซีน หรือ GAVI ได้ทำสัญญาซื้อวัคซีนของแอสตราเซเนกาจาก Serum Institute of India เป็นจำนวน 200 ล้านโดส โดยลงใบเสร็จว่าเป็น “วัคซีนสำหรับโลก” โดยคาดว่าวัคซีนนี้จะมีราคาราวสามดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนจำนวนดังกล่าวจะผลิตออกมาได้เมื่อใด แม้บริษัทผลิตวัคซีนต่าง ๆ ของอินเดียจะสามารถผลิตวัคซีนได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของวัคซีนทั้งโลก และกำลังเร่งผลิตวัคซีนอยู่ แต่ก็คาดว่าขั้นตอนการแจกจ่ายวัคซีนให้มีปริมาณเหมาะสมกับความต้องการของแต่ละประเทศนั้นจะมีความวุ่นวายพอสมควร
เทย์เลอร์ระบุว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนและการผลิตวัคซีนที่มีอยู่นั้นบ่งบอกว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำอาจได้รับวัคซีนไม่เพียงพอภายในปีนี้ ซึ่งไม่ใช่เพราะตลาดอินเดียกักตุนวัคซีนไว้ แต่เป็นเพราะความสามารถในการผลิตวัคซีนทั่วโลกนั้น ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้รวดเร็วเพียงพอ หรือรับรองไม่ได้ว่าวัคซีนจะไปถึงประชาชนที่ควรได้รับวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรกหรือไม่