โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลมที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งอินเดียตั้งสินใจสร้างบริเวณที่ราบลานเกลือในรัฐคุชราต และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทะเลทรายเกลือที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกำหนดแล้วเสร็จภายในสามปีนับจากนี้
ทีมพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนคาฟดา (Khavda) ที่ตั้งชื่อตามหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่ของโครงการมากที่สุด เชื่อว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะมีขนาดที่ใหญ่มากจนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ
ในเวลานี้ แรงงานหลายพันคนกำลังติดตั้งเสาสำหรับแผงโซลาร์เซลล์ที่เรียงกันไกลเป็นระยะสุดลูกหูลูกตา และบางส่วนกำลังสร้างฐานสำหรับติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ สร้างสถานีย่อย และวางสายไฟเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร
เมื่อโครงการสำเร็จจะมีขนาดใหญ่เท่ากับสิงคโปร์ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 726 ตารางกิโลเมตร และรัฐบาลอินเดียประมาณการว่า จะต้องใช้งบลงทุนอย่างน้อย 2,260 ล้านดอลลาร์
การเลือกสร้างโครงการในพื้นที่ตรงนี้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนไม่น้อย เนื่องจากทะเลทรายสีขาว แรนน์ ออฟ คัทช์ (Rann of Kutch) ในรัฐคุชราตทางตะวันตกของอินเดีย เป็นทะเลทรายเกลือและพื้นที่ลุ่มมีสภาพโหดร้าย ตั้งอยู่ห่างจากผู้คนราว 70 กิโลเมตร ทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากชายแดนระหว่างอินเดียและปากีสถานอันเป็นจุดที่มีความตึงเครียดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ โครงการนี้จะผลิตพลังงานทดแทนได้ 30 กิกะวัตต์ต่อปี ซึ่งจะเพียงพอต่อประชากรอินเดียราว 18 ล้านหลังคาเรือน
อินเดียตั้งเป้าที่จะผลิตพลังงานสะอาดให้ได้ 500 กิกะวัตต์ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เพื่อทำให้การปล่อยมลพิษของประเทศกลายเป็นศูนย์ในปี 2070 และโครงการพลังงานหมุนเวียนที่กำลังดำเนินการจะเป็นตัวต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะนำอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกไปสู่การผลิตพลังงานจากแหล่งที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนได้สำเร็จ
ปัจจุบันนี้ อินเดียยังคงใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก โดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งผลิตไฟฟ้าให้กับอินเดียมากกว่า 70%
ทุกวันนี้ สัดส่วนของไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 10% เท่านั้น และอินเดียคือประเทศที่ปล่อยก๊าซต้นเหตุของภาวะโลกร้อนเป็นอันดับที่สาม รองจากจีนและสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวทางสังคมแสดงความกังวลเรื่องผลเสียที่อาจจะตามมา เนื่องจากอินเดียอนุญาตสร้างโครงการพลังงานสะอาดแห่งนี้ โดยไม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ซานดีป เวอมาณี นักสิ่งแวดล้อมในเขตคัทช์ รัฐคุชราต ให้ความเห็นว่า การไม่ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ไร้ระบบในการพิจารณาว่ าพื้นที่บริเวณไหนเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการนี้มากที่สุด
- ที่มา: เอพี