ในแอฟริกาใต้ “การย่างบาร์บีคิว” ถือเป็นงานอดิเรกประจำชาติ โดยเนื้อสัตว์นั้นจัดว่า เป็นอาหารที่มีความผูกพันธ์เชิงวัฒนธรรมของผู้คน แต่ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มาจากพืชกลับกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างน่าแปลกใจ ซึ่งเป็นกรณีที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะไม่ถูกใจมากเท่าใดนัก
สิ่งที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะที่ผ่านมา เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างชี้ว่า อาหารจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมมีส่วนในการสร้างมลพิษอย่างมาก ดังนั้น การหันมาบริโภคอาหารทดแทนที่มาจากพืชจึงถือว่า มีส่วนสำคัญในการช่วยต่อสู้กับปัญหาเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Research and Markets ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนที่มาจากพืชมีการเติบโตมากขึ้นราว 6.5% ต่อปี และคาดว่า ยอดขายจะสูงถึง 561 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2023 โดยตัวเลขนี้สูงกว่าครึ่งหนึ่งของสัดส่วนการตลาดแอฟริกาในตลาดโลกซึ่งมีการคาดว่าจะแตะระดับ 162,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
อย่างไรก็ดี ตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนยังถือว่า เป็นตลาดกลุ่มเฉพาะ โดยชาวแอฟริกาใต้ใช้จ่ายประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ในการซื้อหาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในปี 2018 และปัจจุบันเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อวัวต่อหัวมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลกแล้ว
ในทศวรรษที่ผ่านมา ความนิยมของผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มาจากพืชในแอฟริกาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดถึงมาก่อน แต่ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของตลาดนี้กลับกำลังแซงหน้าการเติบโตของตลาดเนื้อสัตว์แล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมเนื้อแปรรูปของแอฟริกาใต้ตื่นตระหนกอย่างมาก จนต้องทำการล็อบบี้รัฐบาลในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ให้สั่งห้ามผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มาจากพืช ไม่ให้ใช้คำว่า 'นักเก็ต' 'ไส้กรอก' หรือ 'เบอร์เกอร์' แสดงบนบรรจุภัณฑ์ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภค
อลิสแตร์ เฮย์วาร์ด กรรมการผู้จัดการของบริษัท Feinschmecker ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มคนที่กินอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือ Flexitarianism โดยพวกเขาต้องการที่จะกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง” และเฮย์วาร์ด คาดว่า ผลิตภัณฑ์ทดแทนจากพืชของบริษัท Feinschmecker จะไม่สามารถใช้คำว่า “แฮม” บนบรรจุภัณฑ์ได้อีกต่อไป เมื่อรัฐบาลบังคับใช้คำสั่งล่าสุดนี้
ถึงกระนั้น การขยายตัวของธุรกิจเนื้อสัตว์ทดแทนที่ทำจากพืชในแอฟริกาใต้ก็ยังขยายตัวต่อไป โดยด้านบริษัท Tiger Brands เพิ่งเข้าซื้อหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพ Herbivoire ที่ผลิตอาหารทดแทนจากพืช ขณะที่ ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต Woolworths เลือกที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มาจากพืชของตนเอง โดย 1 ใน 4 ของของชาวแอฟริกาใต้ยังประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทดแทนจากพืชจึงเป็นทางเลือกที่ควรถูกพิจารณา
มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของปัญหาทั้งหมด ดังนั้น การลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์จะช่วยอย่างมาก ให้เราสามาถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติได้
บทความในวารสาร Science เดือนกุมภาพันธ์กล่าวว่า การยุติการทำฟาร์มสัตว์ อาจทำให้ระดับก๊าซเรือนกระจกคงที่เป็นเวลา 30 ปี และช่วยชดเชย 68% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้
นอกจากนี้ อีกบทความที่ตีพิมพ์ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนให้ทั้งโลกหันมาบริโภคอาหารที่มาจากพืชแบบ 100% จะช่วยลดการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับอาหารลงเกือบครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็น 30% ของปัญหาการปล่อยมลพิษทั้งหมด
- ที่มา: รอยเตอร์