วิถีการเมืองสหรัฐฯ หลังกระบวนการถอดถอนปธน.ทรัมป์

U.S. President Donald Trump holds up a copy of USA Today's front page showing news of his acquitttal in his Senate impeachment trial, as he arrives to address the National Prayer Breakfast in Washington, U.S., February 6, 2020. REUTERS

Your browser doesn’t support HTML5

Impeachment Takeaway

ประวัติศาสตร์ 224 ปีของสหรัฐฯ ต้องบันทึกไว้ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ถูกเสนอถอดถอนออกจากตำแหน่งและวุฒิสภาลงมติว่าไม่มีความผิด ระหว่างลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ 2 เพื่อดำรงตำแหน่งต่อ

ผลการลงมติโดยสภาสูงสหรัฐฯ ที่ออกมานี้อาจเป็นรูปการณ์ที่ทั่วโลกคาดไว้แล้ว แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนี้คือผลกระทบของกระบวนการนี้ต่อวิถีการเมืองสหรัฐฯ ที่หลายฝ่ายไม่ได้ประเมินไว้ก่อน

วีโอเอ รวบรวมความเห็นจากนักวิเคราะห์การเมืองเกี่ยวกับสิ่งที่ได้จากกระบวนการถอดถอนที่ใช้เวลากว่า 4 เดือนก่อนจะได้ผลสรุปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ประเด็นแรกคือ การเมืองแบบยึดแนวทางพรรค (partisanship) ที่สมาชิกพรรครีพับรีลิกันซึ่งครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง แสดงให้เห็นผ่านการลงมติไม่ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ว่าทุกคนยังยืนหยัดข้างประธานาธิบดีของพวกเขา เป็นการตอกย้ำสภาวะแบ่งแยกทางการเมืองของประเทศยังชัดเจนอยู่ แม้ว่า วุฒิสมาชิก มิตต์ รอมนีย์ จะเป็นสมาชิกพรรคเพียงคนเดียวที่โหวตแตกต่างจากคนอื่นในญัตติการใช้อำนาจในทางที่ผิด

ประเด็นที่สองคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งถัดไปจะสรุปความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการถอดถอนผู้นำประเทศภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดย ปีเตอร์ เชน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากมหาวิทยาลัย โอไฮโอ สเตท กล่าวว่า หลายคนยังสงสัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการถอดถอนที่เพิ่งผ่านไปจะส่งสัญญาณอะไรให้แก่รัฐบาลถัดไป เพราะถ้าหากปธน.ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน โอกาสที่จะเห็นรัฐสภาสหรัฐฯ ทำการถอดถอนผู้นำอาจจะหดหายไป แต่หากตัวแทนพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง นั่นจะเป็นเสมือนการยืนยันการตัดสินใจของพรรคเดโมแครตในการดำเนินการถอดถอนปธน.ทรัมป์ ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตก็เป็นได้

ประเด็นถัดไปคือ มติไม่ถอดถอนปธน.ทรัมป์เป็นเหมือนการเปลี่ยนบรรทัดฐานของ “การใช้อำนาจในทางที่ผิด” ซึ่งเป็นญัตติที่ใช้ในกระบวนการถอดถอนผู้นำ เพราะการที่สมาชิกพรรครีพับลิกันมองว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวที่ทางพรรคเดโมแครตยกขึ้นมาเพื่อถอดถอนปธน.ทรัมป์ ไม่ชัดเจนและมีน้ำหนักพอที่จะใช้ในการดำเนินกระบวนการนี้เสียด้วยซ้ำ ทำให้หลายคนสงสัยว่าตัวประธานาธิบดีนั้นจะต้องใช้อำนาจในทางที่ผิดมากเพียงใด ถึงจะต้องถูกถอดถอนได้

นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ยังมองว่าดุลอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ เหมือนจะถ่วงไปทางฝ่ายบริหารมากขึ้น ดังเช่นที่วุฒิสมาชิกอิสระ แองกัส คิง จากรัฐเมน เตือนไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า มติไม่ถอดถอนปธน.ทรัมป์ จะเป็น ”การถ่ายอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐสภา ไปยังฝ่ายบริหาร ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติ”

ขณะที่ข้อกล่าวหาว่า ปธน.ทรัมป์ขัดขวางการทำงานของสภา ขัดแย้งกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการแบ่งแยกอำนาจระหว่างสองฝ่ายให้เด็ดขาด ซึ่งพรรครีพับลิกันไม่เห็นว่าเป็นเรื่องจริงที่ควรนำไปสู่การถอดถอนนั้น พรรคเดโมแครตเชื่อว่ายิ่งทำให้ระบบการเมืองสหรัฐฯ เข้าใกล้จุดที่ผู้นำฝ่ายบริหารมีสถานะเทียบกับจักรพรรดิ (Imperial Presidency) มากขึ้น

และแม้ว่าประเด็นนี้จะยังเป็นการคาดการณ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ศาสตราจารย์เชน เชื่อว่า ผลลงมติที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ประธานาธิบดีคนต่อๆ ไปมีโอกาสขัดขวางการทำงานของสภามากขึ้นไปอีก

ท้ายสุด การดำเนินกระบวนการถอดถอนโดยไม่เรียกพยานขึ้นมาให้ปากคำอาจกลายเป็นหลักปฏิบัติต่อไปในอนาคตได้ เพราะการไต่ส่วนที่เพิ่งเกิดขึ้นในสภาสูงสหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวุฒิสภาสหรัฐ แม้ว่าพรรคเดโมแครตจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะนำพยานขึ้นมาให้ปากคำในขั้นตอนไต่สวนของสภาสูง แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันอ้างว่า การให้ปากคำของพยานควรเกิดขึ้นในชั้นการทำงานของสภาล่างมากกว่า

ภายหลังกุมชัยชนะจากกระบวนการถอดถอนครั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ สมาชิกพรรครีพับลิกันและผู้สนับสนุนหัวอนุรักษ์นิยมทั้งหลายพร้อมใจกันเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ วุฒิสมาชิก มิตต์ รอมนีย์ ซึ่งเป็นสมาชิกคนเดียวที่ลงมติแตกต่างจากสมาชิกคนอื่น

Mitt Romney

ปธน.ทรัมป์ เริ่มวิพากษ์รอมนีย์ ด้วยข้อความทวิตเตอร์ที่ระบุว่า “ถ้าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มิตต์ รอมนีย์ ที่พ่ายแพ้ในการเข้าชิงตำแหน่ง ใช้สรรพกำลังและความโกรธไปยัง บารัค โอบามา เหมือนที่เขาทำกับผม เขาคงชนะการเลือกตั้งไปแล้ว”

และในระหว่างงานเลี้ยง National Prayer Breakfast เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น ปธน.ทรัมป์ยังกล่าวกระทบกระเทียบรอมนีย์ ระหว่างการปราศรัยอีกครั้ง ว่าเขาไม่ชอบคนที่อ้างศรัทธามาเป็นเหตุผลในการทำสิ่งที่รู้อยู่ว่าผิด ซึ่งผู้ที่ได้ยินล้วนเข้าใจว่าเป็นการพูดถึงรอมนีย์ เพราะวุฒิสมาชิกรีพับลิกันคนนี้ กล่าวก่อนการลงมติแล้วว่า เขาคิดว่าสิ่งที่ปธน.ทรัมป์ทำเป็นสิ่งที่ผิด หากพิจารณาตามหลักการของสิทธิ์การเลือกตั้ง ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และคุณค่าพื้นฐานของชาวอเมริกัน

ขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโตของผู้นำสหรัฐ เรียกร้องให้พรรครีพับลิกันขับรอมนีย์ออกจากพรรค พร้อมกับเรียกวุฒิสมาชิกผู้นี้ว่าเป็น “พวกต่ำช้าสามานย์”

โฆษกหญิงประจำทำเนียบขาว สเตฟานี กริชแชม ผู้เคยทำงานกับรอมนีย์ ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2012 กล่าวว่า “มีแค่คู่แข่งทางการเมืองของท่านประธานาธิบดี ก็คือ สมาชิกพรรคเดโมแครต และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่พ่ายแพ้ในการชิงตำแหน่ง ที่ลงมติสนับสนุนญัตติถอดถอนที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมานี้”

นอกจากนั้น สื่ออนุรักษ์นิยมหลายรายออกมาร่วมให้ความเห็นมากมาย เช่น ฌอน แฮนนิตี้ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพันธุ์แท้ของประธานาธิบดีทรัมป์ จากสถานีข่าว ฟอกซ์ นิวส์ เรียกวุฒิสมาชิกรอมนีย์ว่า “เป็นคนด้อยความสำคัญ” และว่า “การพ่ายแพ้ในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทำให้คนเราตกต่ำได้จริงๆ”