สภาผู้แทนฯสหรัฐฯเตรียมลงมติส่งคำฟ้องถอดถอนทรัมป์ไปยังสภาสูง

House Speaker Nancy Pelosi of Calif., smiles as she holds the gavel as the House votes on articles of impeachment against President Donald Trump by the House of Representatives at the Capitol in Washington, Dec. 18, 2019.

สภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ เตรียมลงมติในวันพุธ เพื่อส่งคำฟ้องขอถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการ ไปยังวุฒิสภา เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าว หลังสมาชิกสภาล่างผ่านมติดำเนินการถอดถอนครั้งประวัติศาสตร์นี้ตั้งแต่เดือนก่อน

ประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ออกแถลงการณ์ว่า การหารือรายละเอียดขั้นตอนการถอดถอนโดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากพรรคโดเมแครต ในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปว่า สภาผู้แทนฯ จะประชุมกันในวันพุธเพื่อให้สมาชิกทั้งหมดลงมติว่าจะให้ส่งคำฟ้องที่เป็นทางการไปยังวุฒิสภาหรือไม่

นางเพโลซี ระบุในแถลงการณ์ว่า "ชาวอเมริกันจะได้เข้าใจเสียทีว่า จุดยืนของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ต้องการดำเนินกระบวนการถอดถอนโดยไม่มีการสอบสวนพยานบุคคลหรือตรวจสอบหลักฐานใด ๆ นั้นเป็นความพยายามทางการเมืองที่จะปกปิดความจริง" และว่าประธานวุฒิสภา มิทช์ แม็คคอร์แนลล์ และประธานาธิบดีทรัมป์ นั้นกลัวว่าความจริงทั้งหลายจะปรากฏออกมา

เธอยังระบุด้วยว่า ชาวอเมริกันนั้นมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ความจริง และรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้มีการไต่สวนด้วย

นอกจากนั้น นางเพโลซี กล่าวว่า ในการประชุมในวันพุธ สมาชิกสภาฯ จะลงมติเสนอชื่อ คณะผู้ดำเนินการที่รับผิดชอบกระบวนการในขั้นต่อไป ในตำแหน่งคล้ายอัยการ ที่เรียกว่า Impeachment Managers ด้วย

ขณะที่ ประธานวุฒิสภา แม็คคอร์แนลล์ กล่าวในวันอังคารเช่นกันว่า กระบวนการไต่สวนเพื่อทำการถอดถอนนี้น่าจะเริ่มต้นได้ในสัปดาห์หน้า หากทางสภาผู้แทนฯ มีมติส่งคำฟ้องมาเร็วๆ นี้ โดยลำดับแรกที่จะดำเนินการคือ การสาบานตนของประธานศาลสูงสุด จอห์น โรเบิร์ตส เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการพิจารณาคดี รวมทั้งการเตรียมการอื่นๆ

Senate Majority Leader Mitch McConnell of Ky., speaks with reporters on Capitol Hill in Washington, Dec. 19, 2019.

ประธานวุฒิสภา แม็คคอร์แนลล์ ยังให้ความมั่นใจต่อสาธารณชนด้วยว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่มีความปรารถนาที่จะลงมติยกฟ้องในคดีดังกล่าว โดยไม่ฟังคำแถลงทั้งหมดเสียก่อน

กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์นี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ และอดีตผู้นำประเทศก่อนหน้าที่ถูกสภาล่างเสนอถอดถอน คืออดีตประธานาธิบดี แอนดรูว์ จอห์นสัน และอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน แต่วุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหา ส่วนผู้นำสหรัฐฯ อีกคนหนึ่งซึ่งถูกกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนเช่นกัน คืออดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แต่ได้ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่กระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์

กรณีของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น สภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ กล่าวหาว่า เขาพยายามกดดันประธานาธิบดีของยูเครนให้สอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และลูกชาย ฮันเตอร์ ไบเดน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางทหารสหรัฐฯ ต่อยูเครน

ทั้งนี้ โจ ไบเดน เป็นหนึ่งในตัวเก็งจากพรรคเดโมแครต ที่อาจจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปีนี้

ถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนแบบเอื้อประโยชน์กับผู้นำของยูเครนก็ตาม แต่หลังจากที่มีรายงานเรื่องนี้ ได้มีนักการทูตอเมริกันที่เกี่ยวข้องหลายคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ไปแถลงให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่ไต่สวนกรณีดังกล่าว ระบุว่าประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้ยูเครนช่วยเหลือตนเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งในสหรัฐ

กระบวนการขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์นั้นยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะประธานสภาผู้แทนฯ เพโลซี ดึงเรื่องไม่ส่งคำฟ้องไปยังสภาสูง เพื่อหวังให้ประธานวุฒิสภา แม็คคอร์แนลล์ ตกลงให้มีการไต่สวนพยานสำคัญ ซึ่งเป็นผู้ช่วยของประธานาธิบดีทรัมป์ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามระงับเงินช่วยเหลือทางการทหารมูลค่าเกือบ 400 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน พร้อมๆ กับขอให้ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้ เริ่มกระบวนการสอบสวนกรณีของอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน

President Donald Trump pauses in front of the press as he and first lady Melania Trump prepare to board Marine One on the South Lawn of the White House in Washington, Jan. 13, 2020.