Your browser doesn’t support HTML5
ความเสมอภาคในตลาดแรงงานทั่วโลก ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และโอกาสในหน้าที่การงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ตามการเปิดเผยของรายงานฉบับล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO “A Quantum Leap for Gender Equality: For a Better Future of Work for All” ซึ่งพบว่าในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของสตรีที่จะได้รับการจ้างงานยังน้อยกว่าผู้ชายราวร้อยละ 26 อยู่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารเพียง 1 ใน 4 ของตำแหน่งงานระดับสูงทั่วโลก และยังพบว่าผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้นั้น มักมีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยกว่าและมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าคู่แข่งเพศตรงข้าม
รายงานฉบับล่าสุด ที่ตีพิมพ์ก่อนวันสตรีสากล 8 มีนาคมนี้ ระบุว่า ในตำแหน่งหน้าที่เดียวกัน ผู้หญิงยังคงได้รับค่าแรงต่ำกว่าผู้ชายราวร้อยละ 20 และผู้หญิงที่เป็นแม่คนยิ่งได้รับโอกาสทางการงานน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
Shauna Olney ผู้บริหารระดับสูงของ ILO ผู้รับผิดชอบด้านเพศ ความเสมอภาค และความหลากหลาย ที่ชี้ว่า ภาพของความเหลื่อมล้ำจะเห็นได้ชัดขึ้นในสตรีผู้เป็นแม่ทั่วโลก โดยเฉพาะสตรีผู้เป็นแม่ที่ต้องดูแลลูกวัยแบเบาะไปจนถึง 6 ขวบ ซึ่งพวกเธอมีโอกาสได้งานน้อยกว่าสตรีรายอื่นๆ
คุณ Olney บอกว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ข้อเสียเปรียบของสตรีที่เป็นแม่ในตลาดแรงงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38 โดยมีสตรีผู้เป็นแม่ที่ดูแลลูกเล็กเพียงร้อยละ 25 ที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ขณะที่สตรีที่ไม่มีบุตรก้าวเข้าสู่ตำแหน่งฝ่ายบริหารร้อยละ 31 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่ามีหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องและการแก้ไขกำลังดำเนินไปผิดทาง รวมทั้งการที่องค์กรมีอคติและประเมินค่าการทำงานของผู้หญิงเกี่ยวกับการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือ Soft Skills ต่ำกว่าความเป็นจริง
ผู้บริหารระดับสูงของ ILO ที่ดูแลด้านความเสมอภาค ให้น้ำหนักไปที่บทบาทของสตรีในเวทีบริหารได้รับการประเมินค่าที่ต่ำเกินไป เมื่อกล่าวถึงการประเมินศักยภาพในการทำงาน ผู้หญิงจะได้รับการยกย่องจากทักษะ Soft Skills แต่กลับไม่นำมาพิจารณาในรายได้ของพวกเธอ
ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เสนอให้ทั่วโลกเร่งผลักดันนโยบายและการบังคับใช้กฏหมายที่เข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน ลดช่องว่างด้านรายได้ และสร้างโอกาสในการทำงานของสตรี รวมทั้งสนับสนุนให้สตรีทั่วโลกมีสิทธิ์มีเสียงและเป็นตัวแทนเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมในด้านแรงงาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้