“ฮุน เซน” สยบข่าวดันลูกชายนั่งเก้าอี้ผู้นำกัมพูชาต่อ

FILE - Cambodian Prime Minister Hun Sen (L) salutes, along with his son, Lt. Gen. Hun Manet (background) during an inspection of troops at a ceremony in Phnom Penh, Cambodia, Jan. 24, 2019. (Handout via AFP)

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน สยบข่าวการปูทางสนับสนุน บุตรชายคนโตให้รับเก้าอี้ผู้นำกัมพูชาต่อจากตน หลังจากที่นายกฯ ฮุน เซน ประกาศว่า จะเป็นรัฐบาลปกครองกัมพูชาต่อไปอีก 100 ปีข้างหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินว่ายังมีอุปสรรคในการผลักดันการสืบทอดอำนาจอยู่มาก

Your browser doesn’t support HTML5

Hun Sen Son

การประกาศเจตนารมย์อันแรงกล้าของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชา ว่าจะปกครองประเทศในฐานะพรรครัฐบาลต่อไปอีก 100 ปีข้างหน้า ได้ตั้งคำถามถึงผู้ที่จะเข้ามารับช่วงต่ออำนาจนี้ และหนึ่งในตัวเลือกที่ถูกจับตาอย่างมาก คือ พลโทฮุน มาเน็ต บุตรชายของนายกฯ ฮุน เซน

ล่าสุด ฮุน เซน ในฐานะผู้นำกัมพูชาที่ครองอำนาจมายาวนานที่สุด ออกมาสยบข่าวที่ว่าจะผลักดันให้พลโท ฮุน มาเน็ต สืบทอดอำนาจต่อจากเขา พร้อมบอกว่าตอนนี้มีตัวเลือกที่น่าสนใจอีกหลายต่อหลายคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนต่อไปได้

โดยฮุน เซน ย้ำว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการยอมรับจากภายในพรรค และเสียงของประชาชน และสิ่งที่ทำได้คือจะสนับสนุนให้พลโท ฮุน มาเน็ต ปลดล็อคศักยภาพสูงสุดของตัวเองเท่านั้น

พลโทฮุน มาเน็ต ในวัย 42 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ ของสหรัฐฯ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพกัมพูชาอีกหลายตำแหน่ง ส่วนในสายการเมืองพลโท ฮุน มาเน็ต เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกลุ่มยุวชนของพรรค CPP และอยู่ในคณะผู้แทนประสานงานกับจีนด้วย

ในมุมมองของนักวิเคราะห์การเมือง เห็นว่าการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญเช่นนี้ ยังต้องผ่านอีกหลายด่าน เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นในการปกครองกัมพูชาแบบพรรคเดียวต่อไป

กาวิน กรีนวู้ด นักวิเคราะห์จาก A2 Global Risk ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เปิดเผยกับวีโอเอว่า ความเป็นไปได้ที่พลโท ฮุน มาเน็ต จะสืบต่ออำนาจจากนายฮุน เซน เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยด้านสุขภาพของนายฮุน เซน และประเด็นความภักดีของกองทัพ เพราะในบริบทการเมืองตอนนี้ ภัยคุกคามอย่างเดียวที่ต้องระวัง คือ บุคคลที่รายล้อมรอบตัวฮุน เซน เสียมากกว่า และกรีนวู้ด ได้ตั้งคำถามต่อไปว่า การหยิบยกประเด็นการสืบทอดอำนาจขึ้นมาตอนนี้ อาจเป็นคำเตือนให้กับกองทัพกัมพูชาให้จงรักภักดีต่อรัฐบาลปัจจุบันและบุตรชายของเขาอีกทางหนึ่งหรือไม่

ด้านคาร์ล เทเยอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย University of New South Wales กล่าวว่า การกรุยทางการเมืองให้บุตรชายด้วยการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญต่างๆให้ แต่กลับไม่พูดถึงวิสัยทัศน์เหล่านั้นต่อสาธารณชน นั่นเท่ากับว่าฮุนเซน กำลังกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง เพื่อผลักดันให้ลูกชายสืบทอดอำนาจต่ออย่างชัดเจน เพราะตั้งแต่นาทีแรกที่ฮุนเซน กล่าวว่า นี่คือคนที่เขาแต่งตั้ง จะสร้างแรงกดดันและต่อต้านจากฝ่ายไม่สนับสนุนที่จะหาทางปิดกั้นเส้นทางการเมืองของบุตรชายได้ ดังนั้น การเลือกที่จะปล่อยให้ทุกฝ่ายเดาทางกันไปน่าจะดีกว่าในมุมมองของฮุนเซน

ในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ฮุน เซน นำพรรค CPP ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย กวาด 125 ที่นั่งในสภาล่างกัมพูชา ท่ามกลางความกังขาของนักเคลื่อนไหวถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้ง

โดยก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน ฮุน เซน กล่าวว่าตนจะปกครองกัมพูชาต่อไปอีก 10 ปี จนถึงอายุ 75 ปี และมีแนวทางเอนเอียงมาทางจีนมากกว่าฝั่งตะวันตก ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองทั้ง 2 เห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองหรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นสิ่งที่จีนกังวล

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น นักวิเคราะห์ทั้ง 2 มองว่า ฮุน เซน จะเป็นผู้กำหนดชะตาของผู้ที่จะมาสืบทอดอำนาจต่อจากเขา ซึ่งก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากการส่งไม้ต่อให้กับบุตรชายทั้งสองของเขาที่มีบทบาทในกองทัพอยู่ดี