จุดเริ่มต้นของการไลฟ์สดขายของในจีน
บริษัทแรกของจีนที่เริ่มไลฟ์สดขายของคือ เว็บไซต์เถาเป่า (Taobao) ของบริษัทอาลีบาบา โดยเริ่มมีการใช้ “เถาเป่า ไลฟ์” เมื่อปีค.ศ. 2016
“เถาเป่า ไลฟ์” จะอนุญาตให้อินฟลูเอ็นเซอร์ทั้งหลายเปิดบัญชีไลฟ์สดบนเว็บไซต์เถาเป่าได้ โดยพวกเขาสามารถขายสินค้าได้หลากหลายตั้งแต่เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงรถ โดยเมื่อปีที่แล้ววิย่าเคยขายบริการยิงจรวดได้ในราคา 40 ล้านหยวน หรือราว 211 ล้านบาท
แบรนด์สินค้าต่างๆ จัดการไลฟ์สดขายสินค้าเช่นกัน โดยมักจัดโดยพนักงานของบริษัทหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ที่เป็นที่รู้จักที่น้อยกว่า โดยจะไลฟ์ขายผ่านทางร้านค้าออนไลน์ของตนบนเว็บไซต์เถาเป่า หรือเว็บไซต์ทีมอล ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าอีกเว็บหนึ่งของอาลีบาบา
เหตุใดการไลฟ์สดขายของจึงได้รับความนิยม?
พิธีกรรายการไลฟ์สดขายของเหล่านี้จะพูดคุยตอบคำถามต่างๆ แก่ลูกค้าแบบทันที และพูดคุยด้วยท่าทีแบบเป็นกันเอง และกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าทันทีด้วยการให้ส่วนลดในระยะเวลาจำกัด
ผู้ซื้อยังสามารถชมการไลฟ์สดขายของ ถามคำถาม และกดสั่งซื้อสินค้าได้จากแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์เพียงแอปเดียว ทำให้การสั่งซื้อสินค้าเป็นไปอย่างสะดวก
นักไลฟ์สดขายของบางราย เช่น วิย่า ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะลูกค้าไว้ใจ หลังมีข่าวฉาวเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าและสินค้าปลอม จนสาธารณชนเกิดความไม่เชื่อถือต่อคำโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ
อินฟลูเอ็นเซอร์ลำดับต้นๆ ยังพัฒนาภาพพจน์ของตน เช่น วิย่า ที่มีภาพลักษณ์เป็น “พี่สาว” ที่เข้าถึงง่าย เชื่อถือได้ ขณะที่หลี่ เจียฉี หนุ่มจีนนักไลฟ์ขายลิปสติกชื่อดัง ก็มีประโยคเด็ดอย่าง “โอ้พระเจ้า ซื้อเลยสิ!” (Oh my god, buy it!) ที่พูดบ่อยจนติดหูลูกค้า
ลูกค้าและแบรนด์สินค้าต่างๆ ระบุว่า การนำสินค้ามาไลฟ์ขายสดช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพได้เป็นอย่างมาก
หลี่มีผู้ติดตามบนบัญชีเถาเป่าของเขาถึง 47 ล้านคน ในขณะที่วิย่ามีผู้ติดตามกว่า 90 ล้านคน ก่อนที่บัญชีของเธอจะถูกปิดไป
ตลาดจีนใหญ่แค่ไหน?
การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมไลฟ์สดขายของคึกคักขึ้น ในช่วงที่ผู้คนต้องอยู่แต่ที่บ้านระหว่างการล็อคดาวน์ ทำให้มีความต้องการจับจ่ายใช้สอยและความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น เมื่อปีที่แล้ว บริษัทวิจัย iiMedia Research ระบุว่า มีบริษัทที่เป็นผู้จัดการอินฟลูเอ็นเซอร์ออนไลน์เหล่านี้ถึงกว่า 28,000 บริษัท
แอปพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซหลายตัว เช่น โต่วอิน (Douyin) ของบริษัทไบท์แดนซ์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นติ๊กตอกในจีน, Kuaishou, JD.com และ พินตัวตัว (Pinduoduo) ต่างเปิดทางให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์สดขายของได้ โดยโต่วอินได้รับความนิยมมากและเป็นคู่แข่งลำดับต้นๆ ของเถาเป่า
พิธีกรในรายการไลฟ์สดเหล่านี้มีพื้นเพหลากหลาย ตั้งแต่ชาวนา เจ้าของโรงงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงเจ้าของบริษัทใหญ่ ต่างเคยไลฟ์สดขายของมาแล้วทั้งสิ้น
เมื่อเดือนกรกฎาคม บริษัทที่ปรึกษา แม็คคินซี่ย์ (McKinsey) ระบุว่า มูลค่าของตลาดไลฟ์สดขายของมีอัตราการเติบโตสะสมต่อปีถึงกว่า 280% ในช่วงปีค.ศ. 2017 – 2020 และมีมูลค่าถึงราว 171,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.7 ล้านล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ทางบริษัทยังคาดด้วยว่า ยอดขายทางช่องทางไลฟ์สดของจีน จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 423,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 14 ล้านล้านบาท) ภายในปีหน้า
มีการไลฟ์สดขายของในประเทศไหนอีกบ้าง?
แบรนด์สินค้าจากต่างประเทศระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซและช่องทางการไลฟ์ขายของสดของจีนนั้นล้ำหน้ากว่าตลาดอื่นๆ อย่างมาก แต่บางประเทศก็กำลังทดลองการไลฟ์สดขายของอยู่เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเอ็นบีซียูนิเวอร์แซล (NBCUniversal) เริ่มทดลองไลฟ์สดขายของผ่านทางอินสตาแกรม เช่นเดียวกับติ๊กตอก หรือสแนป อิงค์(Snap Inc) ที่ลงทุนในเทคโนโลยีเสมือนจริง เพื่อให้ผู้ใช้งานทดลองสินค้าเช่น นาฬิกาข้อมือ เครื่องประดับ เสื้อผ้า แบบเสมือนจริงได้ และช่วยลดการคืนของหลังซื้อ
บริษัทวิจัย eMarketer คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมไลฟ์สดขายของจะมียอดขายเพื่มขึ้นในสหรัฐฯ จากเดิม 36,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 50,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปีค.ศ. 2023
ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์