Your browser doesn’t support HTML5
ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะยังคงพยายามที่จะรักษาช่องทางการเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จนั้นลดน้อยลงไปทุกวัน หลังจากที่เกาหลีเหนือปฏิเสธที่จะพบปะกับตัวแทนสหรัฐฯ แถมยังยั่วยุด้วยการทดสอบขีปณาวุธถึง 13 ครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่สหรัฐฯ ใช้ช่องทางทางการทูตเพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่จนถึงวันนี้ จุดยืนของทั้งสองประเทศยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ ได้
ในเดือนตุลาคม ผู้แทนของเกาหลีเหนือเดินออกจากโต๊ะเจรจาในการประชุมกับสหรัฐฯ ที่กรุงสต็อกโฮล์ม โดยอ้างว่ารับข้อเสนอของสหรัฐฯ ไม่ได้ หลังจากนั้น รัฐบาลกรุงเปียงยางก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าต้องการจะพบปะกับผู้แทนกรุงวอชิงตันอีก
สหรัฐฯ นั้นต้องการให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ในขณะที่กรุงเปีียงยางต้องการให้กรุงวอชิงตันผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและยุติการซ้อมรบกับเกาหลีใต้เสียก่อน
ในวันอังคารที่ผ่านมา รี แท ซอง (Ri Thae Song) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีเหนือออกแถลงการณ์เพื่อเตือนให้สหรัฐฯ หาข้อเสนอใหม่ก่อนที่จะถึงเส้นตายปลายปี ที่เกาหลีเหนือกำหนดให้
รี แท ซองยังบอกด้วยว่าการกระทำของสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดว่ากรุงวอชิงตัน จะได้อะไรเป็นของขวัญวันคริสต์มาส ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นคำขู่ ว่าเกาหลีเหนืออาจจะทดสอบขีปนาวุธอีกครั้ง หลังจากการทดสอบครั้งล่าสุดใน วันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในวันจันทร์ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ขอให้เกาหลีเหนือ “หลีกเลี่ยง” การยั่วยุ และหันหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง
ในขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังเข้าร่วมประชุมนาโต้ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้แสดงความเห็นถึงการยั่วยุรอบล่าสุดของเกาหลีเหนือว่า สหรัฐฯ มี “กองทัพที่ทรงพลังที่สุด” และถ้าจำเป็น สหรัฐฯ ก็จะใช้กองทัพในการแก้ปัญหา
เคน กอส (Ken Gause) ผู้อำนวยการ Adversary Analytics Program แห่งสถาบัน CNA มองว่า หากช่องทางการทูตไม่ได้ผล เป็นไปได้ว่า เกาหลีเหนือจะหันไปสร้างสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากขึ้นกับจีนและรัสเซีย ซึ่งจะทำให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลียากยิ่งขึ้น
โรเบิร์ต แมนนิ่ง (Robert Manning) นักวิจัยอาวุโสแห่ง Atlantic Council กล่าวว่า สหรัฐฯ อาจจะต้องปรับเป้าหมาย มุ่งไปที่การจำกัดไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไปมากกว่านี้ หากเปียงยางไม่ยอมยุติโครงการอย่างสิ้นเชิง
แมนนิ่งกล่าวว่า ถึงจุดหนึ่ง สหรัฐฯ และประชาคมโลกอาจจะต้องหันมายอมรับว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศหนึ่งที่ครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง แต่เขามองว่า สถานการณ์ยังไม่สุกงอมถึงจุดนั้น
บรูซ ไคลเนอร์ (Bruce Klingner) อดีตรองหัวหน้าแผนกเกาหลีแห่งสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ มองว่า สหรัฐฯ ควรจะยื่นข้อเสนอของตัวเอง นั่นคือ หากเกาหลีเหนือไม่ยอมกลับมาเจรจา สหรัฐฯ ก็จะไม่ยกเลิก หรือเลื่อนการซ้อมรบกับเกาหลีใต้ และจะบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเจรจาจะไม่คืบหน้า แต่นักวิเคราะห์มองว่าช่องทางการเจรจาก็ยังจะไม่ถูกปิดตายไปเสียทีเดียว หากผู้นำทั้งสองประเทศยังเห็นประโยชน์
แมนนิ่งมองว่า ทรัมป์ได้ “ทุ่มเทใจ” ไปมากกับเกาหลีเหนือ และการสานสัมพันธ์อย่างสนิทสนมกับผู้นำคิม จอง อึน การจะให้ทรัมป์ออกมายอมรับว่านโยบายเกาหลีเหนือของเขาล้มเหลว คงจะไม่น่าดูนัก โดยเฉพาะในปีหน้าที่เป็นปีแแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ตราบใดที่ “การเจรจา” หรือ “การพูดถึงการเจรจา” ยังคงดำเนินต่อไป ทรัมป์ก็จะสามารถอ้างได้ว่านโยบายของเขาได้ผล
ส่วนเคน กอสมองว่า กรุงเปียงยางเองก็อาจจะไม่ต้องการที่จะล้ำเส้น หรือปิดประตูการเจรจา เขาคาดว่าเกาหลีเหนือจะยังคงทดสอบขีปนาวุธระยะสั้น และระยะกลางต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป หรือ intercontinental ballistic missile (ICBM) ก็แสดงว่ารัฐบาลเปียงยางได้ข้อสรุปแล้วว่า การเจรจากับรัฐบาลของทรัมป์ ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป