Your browser doesn’t support HTML5
จีนเริ่มส่งสัญญาณในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาว่ารัฐบาลปักกิ่งเริ่มหมดความอดทนกับผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง โดยล่าสุด รัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาบอกว่าการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ที่เข้าสู่สัปดาห์ที่ 11 แล้วนั้นมี “ลักษณะของการก่อการร้าย”
นักวิเคราะห์มองว่าการที่รัฐบาลปักกิ่งใช้วาทกรรม เรียกการชุมนุมในฮ่องกงว่าคล้ายกับการก่อการร้ายนั้น มีแต่จะยิ่งทำให้ผู้ประท้วงหนุ่มสาวโกรธแค้นมากขึ้น เพราะพวกเขามองว่าตัวเองเป็นผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ
เพียงแต่อาจจะทำให้บางคนที่คิดจะเข้าร่วมชุมนุมเปลี่ยนใจ เพราะคิดว่า วาทกรรมของจีนเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลปักกิ่งอาจจะเตรียมใช้กำลังปราบปรามการชุมนุม
หลายคนกำลังจับตามองว่าจีนจะจัดการกับการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงอย่างไร นักวิเคราะห์มองว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน ไม่น่าจะใช้กองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม เพราะตระหนักดีถึงผลที่จะตามมา สี จิ้นผิง จึงน่าจะใช้วิธี รออย่างอดทน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วสมัยที่ฮ่องกงมีการประท้วงเมื่อห้าปีก่อน ที่รู้จักกันในนาม Occupy Central
เดวิด ซเวค (David Zweig) นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงมองว่า รัฐบาลปักกิ่งน่าจะใช้วิธีรอจนกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงอ่อนกำลังไปเอง เมื่อนักศึกษาต้องกลับเข้ารั้วมหาวิทยาลัยในเดือนกันยายน โดยจีนหวังว่าประชาชนหรือ คนทำมาหากินในฮ่องกงน่าจะรู้สึกเบื่อหน่ายและอึดอัดกับภาวะแบบนี้
ซเวคยังบอกด้วยว่า จีนใช้วิธีกดดันบริษัทในฮ่องกงที่จีนเป็นเจ้าของ เช่น สายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิค (Cathay Pacific) ห้ามไม่ให้พนักงานเข้าร่วมการชุมนุม
ด้าน ลิน ชอง ปิน (Lin Chong-pin) นักวิเคราะห์ที่ศึกษาเรื่องจีนอีกคนหนึ่ง ก็ให้ความเห็นคล้ายกันว่า ผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงจากการชุมนุมประท้วง น่าจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต่อต้านผู้ชุมนุมไม่มากก็น้อย ลินบอกว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดของรัฐบาลปักกิ่งตอนนี้ ก็คือ ปล่อยให้รัฐบาลฮ่องกงและภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมฮ่องกงออกมาต่อต้านและระงับยับยั้งสถานการณ์กันเอง แต่วิธีนี้จะได้ผลหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดู
ในวันอังคารที่ผ่านมา ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แคร์รี่ แลม ได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า สถานการณ์ในฮ่องกงได้ “มาถึงจุดที่อันตราย” และยังขอร้องไม่ให้ผู้ชุมนุมทำให้ฮ่องกงตกอยู่ในสภาพที่เธอเรียกว่า “ก้นเหว” อีกด้วย
ถึงเวลาปฎิรูปการเมืองฮ่องกง?
ในขณะเดียวกัน มีบางคนในกลุ่มธุรกิจชั้นแนวหน้าของฮ่องกงออกมาขอร้องให้จีนเริ่มการปฏิรูปการเมืองในฮ่องกง โดยการอนุญาตให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น
นาย เชีย เชง ไฮ (Chea Cheng Hye) ผู้บริหารกองทุนแห่งหนึ่ง ได้เขียนบทความลงในคอลัมน์แสดงทัศนะ ในหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ของฮ่องกง ว่าการปฏิรูปจะทำให้คนฮ่องกงปกครองตนเอง ด้วยระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง และเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงได้เองด้วย
แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า ในห้วงเวลานี้ รัฐบาลปักกิ่งไม่น่าจะยอมอ่อนข้อและให้สิทธิการออกเสียงแก่ประชากร 7 ล้านคนของฮ่องกง ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ก็ไม่คิดว่า จีนจะเลือกใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม เพราะรัฐบาลปักกิ่งไม่อยากต้องซ้ำรอยเหตุการณ์นองเลือดจากการปราบผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ 30 ปีก่อน ส่วน สี จิ้นผิง ก็ไม่อยากให้ศัตรูทางการเมืองภายในประเทศ ใช้วิกฤติฮ่องกงมาทำให้ตำแหน่งของเขาในพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องสั่นคลอน