ปมสงสัยเบื้องหลังการทำลายอารยธรรมโบราณของกลุ่มรัฐอิสลาม IS

Your browser doesn’t support HTML5

ปมสงสัยเบื้องหลังการทำลายอารยธรรมโบราณของกลุ่ม ISIS

นักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตว่าการทำลายโบราณวัตถุอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงมากกว่าจะมีแรงจูงใจด้านความเชื่อตามข้ออ้างของกลุ่มติดอาวุธลัทธิสุดโต่งนี้

Your browser doesn’t support HTML5

Historic Iraq Syria Radio Version

ภาพวีดิโอที่เผยแพร่โดยกลุ่มขบวนการรัฐอิสลาม หรือ IS ในการบุกเข้าทำลายโบราณวัตถุและเมืองโบราณหลายแห่งในอิรักสร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก

โบราณวัตถุล้ำค่า มรดกจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย หนึ่งในต้นสายธารแห่งอารยธรรมมนุษยชาตินับพันๆ ปี ต้องสิ้นสุดลงด้วยน้ำมือของกลุ่มลัทธิสุดโต่งที่เข้าครอบครองดินแดนลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส เขตแดนประเทศอิรักและซีเรียในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ แมคไกวร์ กิ๊บสัน (McGuire Gibson) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีอารยธรรมเมโสโปเตเมีย แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก บอกว่า การอารยธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งนี้สามารถบอกได้ถึงอดีตแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอิรักซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอารยธรรมของชาวโลก ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่เฉพาะเป็นมรดกของชาวอิรักเท่านั้นแต่หมายถึงเป็นมรดกสำคัญของโลกด้วย

ศาสตราจารย์ แมคไกวร์ บอกว่า การบุกเข้าไปรื้อทำลายในพิพิธภัณฑ์ที่โมซู และ โบราณสถานศูนย์กลางแห่งอารยธรรมอัสซีเรียนที่เมืองนิมรัดในอิรัก ของกลุ่ม IS เมื่อเร็วๆ นี้ ล้วนเป็นเจตนาที่ต้องการจะยั่วยุ เหมือนกับเข็มที่คอยทิ่มแทงความรู้สึกของผู้คน ทำให้หลายคนรู้สึกโกรธ ระคนกับความหดหู่

ศาสตราจารย์ทางโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกตั้งข้อสงสัยจากมุมมองและประสบการณ์ของเขาว่า บางทีกลุ่มติดอาวุธ IS อาจสร้างภาพลวงจากการทำลายโบราณวัตถุขนาดใหญ่เพื่ออำพรางและเบี่ยงเบนความสนใจ ในการลักลอบค้าโบราณวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่าแต่มีมูลค่ามากกว่าเพื่อขนย้ายออกนอกประเทศ

"ผู้คนทั่วโลกทราบดีถึงมูลค่าของโบราณวัตถุเหล่านั้น เห็นได้จากการบุกรุกพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของอิรักในช่วงสงครามอิรักเมื่อปี 2003 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีแรงกระตุ้นจากกลุ่มคนภายนอกที่พยายามหานายหน้าค้าและตามล่าโบราณวัตถุล้ำค่าในสถานที่ต่างๆ"


ขณะที่ในปัจจุบันงานที่ศาสตราจารย์ แมคไกวร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก กำลังพยายามอย่างหนัก คือการตามหาวัตถุโบราณล้ำค่าที่สูญหายเหล่านั้นเพื่อส่งกลับคืนสู่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอิรัก ท่ามกลางการทำงานอย่างยากลำบากของคณะนักโบราณคดีในสภาวะการสู้รบในหลายพื้นที่

ขณะที่ Edouard Planch ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การยูเนสโก บอกว่า องค์การ ยูเนสโก ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มนักโบราณคดีด้วยการพยายามให้ความรู้พื้นฐานและการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ตามด่านพรมแดนต่างๆ บริเวณแนวชายแดนใกล้อิรักและซีเรีย

เขาบอกว่า เป้าหมายของแนวทางดังกล่าวก็เพื่อที่จะมีจุดตรวจของยูเนสโก ครอบคลุมโดยรอบประเทศเหล่านี้ เพื่อคอยสอดส่องมองหาโบราณวัตถุที่จะส่งออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็เพื่อให้สถานที่เก็บรักษาโบราณสถานเหล่านั้นที่ปลอดภัย


โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์โมซูที่ถูกบุกรื้อทำลายครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่มีการบันทึกภาพจัดทำบันทึกไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะช่วยในการค้นหาให้ง่ายขึ้น

ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอิรักในกรุงแบกแดด นั้นแม้จะเพิ่งกลับมาเปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระหว่างการแกะรอยและตามหาโบราณวัตถุ มรดกแห่งอารยธรรมใมโสโปเตเมีย อายุหลายพันปี อีกกว่า 1 หมื่น 5 พันชิ้น ที่สูญหายในช่วงสงครามอิรักเมื่อกว่า 12 ปีก่อน