Your browser doesn’t support HTML5
ในงานแสดงสินค้า CES ที่นครลาสเวกัสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการแสดงอุปกรณ์ระบบดิจิทัลที่จับตลาดกลุ่มเด็ก เช่น Square Panda ซึ่งเป็นของเล่นเด็กที่ประกอบด้วยหน้าจอซึ่งมีตัวการ์ตูนและเสียง เพื่อช่วยสอนการเรียนรู้ตัวหนังสือและส่งเสริมการอ่านของเด็กวัยเยาว์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ปกครองบางคน
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงท้วงติงเช่นกันว่าการใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลนั้นจะส่งผลต่อเด็กเพียงใด และเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณ Robin Raskin จากบริษัท Living in Digital Times ให้ความเห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองคงไม่สามารถโยนภาระให้กับบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายให้เป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์แทนตนได้
แต่พ่อแม่อาจคาดหวังให้บริษัทเหล่านี้สร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับเด็กที่เปิดโอกาสให้แต่ละบ้านแต่ละครอบครัว สามารถตั้งกฎเกณฑ์การใช้งานของตนเองได้โดยง่ายมากกว่า
เมื่อต้นเดือนมกราคม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สองรายส่งจดหมายถึงบริษัท Apple เพื่อแสดงความกังวล และขอให้บริษัท Apple ให้ความสนใจมากขึ้น เพื่อช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการจำกัดหรือควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือของบุตรหลานของตน
ส่วนข้อเรียกร้องประเด็นที่สองคือ ขอให้บริษัท Apple ช่วยสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีต่อเด็กและเยาวชน
โดยผู้ถือหุ้นที่ส่งจดหมายแสดงความกังวลถึงบริษัท Apple กล่าวว่า เด็กนักเรียนระดับเกรด 8 ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์มาก จะมีโอกาสความเสี่ยงสูงกว่าถึง 27% ที่จะมีอาการสลดหดหู่และเศร้าซึม และจะใช้เวลาในการเล่นกีฬา การสังสรรค์กับผู้อื่นรวมทั้งเพื่อทำการบ้านน้อยกว่าด้วย
ขณะที่รายงานนี้ยังไม่มีข่าวยืนยันว่าบริษัท Apple ตัดสินใจตอบสนองข้อวิตกกังวลของผู้ถือหุ้นรายใหญ่สองรายนี้อย่างไร และขณะที่ยังไม่มีมาตรการด้านเทคโนโลยีใดๆ ที่จะช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองสอดส่องดูแลการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลของบุตรหลานตนอย่างได้ผลนั้น กลุ่มที่ทำงานช่วยผู้ปกครองให้คำแนะนำว่า ควรจะรอจนกว่าเยาวชนเข้าเรียนระดับเกรด 8 หรือเทียบเท่ากับมัธยม 2 ตามระบบการศึกษาของไทย เพื่ออนุญาตให้ใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองได้
เพราะเยาวชนวัยที่ต่ำกว่านี้มีโอกาสจะติดโทรศัพท์มือถือและใช้มากเกินไปจนมีผลกระทบต่อการนอน รวมทั้งส่งผลเสียเรื่องการบ้านและการเข้าสังคมด้วยเช่นกัน