ผลศึกษาพบ 'คราบหินปูนในผนังเส้นเลือดหัวใจ' อาจทำให้เกิดหัวใจวายหรือเสียชีวิตได้ภายใน 12 ปี

  • Jessica Berman

Heart Disease

Your browser doesn’t support HTML5

Heart Calcium Death

การศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจและเส้นเลือดชิ้นนี้ จัดทำในศูนย์การเเพทย์ 5 เเห่งในสหรัฐฯ โดยมีคนเข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดห้าพันคนอายุตั้งเเต่ 18 ปีถึง 30 ปี

ผลการศึกษานี้ระบุว่า คนในวัยหนุ่มสาวที่มีคราบเเคลเซี่ยมหรือหินปูนเกาะในผนังเส้นเลือดหัวใจ เเม้จะพบเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงสูงให้สูงขึ้นต่ออาการหัวใจวายภายใน 12 ปี

แต่ผลการศึกษานี้ชี้ว่า ปัญหาการเกาะติดของคราบเเคลเซี่ยมในผนังเส้นเลือดหัวใจนี้ตรวจพบได้ง่าย และทั้งเเพทย์และคนไข้ควรใส่ใจกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเป็นป้องกันปัญหาสุขภาพนี้

Jeff Carr นักรังสีวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจแห่ง Vanderbilt University Medical Center เป็นหัวหน้าของวิจัยครั้งนี้ เขากล่าวว่าคราบหินปูนที่เกาะติดในผนังเส้นเลือดหัวใจของคนที่ยังอายุน้อย เป็นปัจจัยที่จะทำให้อายุสั้นลงอย่างมาก

เขากล่าวว่าหากมีคราบหินปูนเพียงเล็กน้อย ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายจะเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า และหากพบคราบหินปูนในปริมาณมาก โอกาสเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายก็จะสูงขึ้นอย่างมากหรือราว 20 เปอร์เซ็นต์

ในการศึกษานี้ ซึ่งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1985 คนวัยหนุ่มสาว 3,300 คนทั้งที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและชาวอเมริกันผิวขาว ได้รับการตรวจร่างกายด้วย CT สแกนเพื่อตรวจหาคราบหินปูนในเส้นเลือดหัวใจ ส่วนผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เหลืออีก 1,800 คน ได้รับการติดตามดูสุขภาพ โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายเป็นฐาน

ผลการตรวจด้วย CT สแกน เผยให้เห็นคราบหินปูนในผู้ป่วย 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดที่เข้ารับการสแกนนี้ หลังจากนั้นอีก 12 ปี ทีมนักวิจัยติดตามดูสุขภาพของคนกลุ่มที่มีคราบหินปูนในเส้นเลือดนี้ หลังจากเเพทย์ได้ระบุว่าพวกเขามีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตก่อนวัย

Jeff Carr ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องเข้ารับการสแกนหัวใจเพื่อวัดดูความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายในอนาคต เขากล่าวว่าแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงของคนเเต่ละคนได้ ด้วยการเก็บข้อมูลทางสุขภาพเพื่อระบุปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหลายปัจจัยด้วยกัน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่ ความดันโลหิตและระดับไขมันในเส้นเลือด ซึ่งการบำบัดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อย่างจริงจังจะมีผลช่วยลดโอกาสเกิดอาการหัวใจวายหรือเสียชีวิตก่อนวัย

Carr หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า การบำบัดด้วยยาลดความดันโลหิตและลดไขมันในเส้นเลือด การลดน้ำหนักตัว และการเลิกสูบบุหรี่ เป็นวิธีที่พิสูจน์เเล้วว่าได้ผลดีในการต่อต้านโรคหัวใจ

และเเน่นอนว่าการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อุดมด้วยผักและผลไม้ ตลอดจนการลดการบริโภคเนื้อเเดงลง ล้วนเเต่จะเป็นผลดีต่อการป้องกันโรคหัวใจเช่นกัน

ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Cardiology

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)