Your browser doesn’t support HTML5
ทีมนักวิจัยได้ค้นพบว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจ มีผลดีต่อสมองของคนเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายและอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเเก่ร่างกาย
การออกกำลังกายช่วยให้หัวใจทำงานเต็มที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง เลือดที่ไปเลี้ยงสมองอย่างเต็มที่ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมเมื่อวัยสูงขึ้น
ในงานวิจัยของ Dr. Kenneth Langa แห่งมหาวิทยาลัย Michigan เน้นศึกษาโรคความจำเสื่อมแบบอัลไซม์เมอร์ส และโรคความจำเสื่อมชนิดอื่นๆ
Dr. Kenneth Langa กล่าวว่าโรคความจำเสื่อมเป็นอาการที่คนเราเริ่มสูญเสียความทรงจำเเละความสามารถของสมองด้านอื่นๆ อาทิ การพูด การวางแผนและจัดการกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
Dr. Langa เป็นหัวหน้าการวิจัยที่ศึกษาผู้ใหญ่วัยทองมากกว่า 20,000 คน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม เขากล่าวว่าทีมวิจัยพบว่าจำนวนคนป่วยด้วยโรคความจำเสื่อมได้ลดลงอย่างมากระหว่างปี ค.ศ. 2000 ถึง 2012 จากราว 11.5 เปอร์เซ็นต์ ลงไปอยู่ที่ราว 9 เปอร์เซ็นต์
Dr. Langa กล่าวว่าการลดลงนี้เกิดจากความก้าวหน้าในการบำบัดอาการความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน การบำบัดเหล่านี้ช่วยรักษาให้ระะบบหลอดเลือดและหัวใจเเข็งเเรงและช่วยลดโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันและเเตก
เขายังกล่าวด้วยว่า ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นก็มีผลดีต่อเรื่องนี้ด้วย มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ว่ายิ่งคนมีการศึกษาที่สูงขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความจำเสื่อมจะยิ่งลดลง
ข้อมูลจากการศึกษาของทีมวิจัยที่นำโดย Dr. Langa ชี้ว่าในสหรัฐฯ คนมีการศึกษาสูงขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา และแม้เเต่ระดับการศึกษาจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็มีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมลง
Dr. Langa กล่าวว่าข้อมูลนี้เเสดงว่าคนที่อายุ 75 ปีในวันนี้ มีโอกาสเป็นโรคความจำเสื่อมน้อยกว่าคนวัยเดียวกันเมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว และเเม้จะไม่มีความก้าวหน้่่าสำคัญทางการเเพทย์หรือการบำบัดใดๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคลง
ผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร American Medical Association หรือ JAMA ไปเมื่อเร็วๆนี้
(รายงานโดย Carol Pearson / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย)