เมื่อหลายปีที่แล้ว Felicia Knaul เข้ารับการผ่าตัดทรวงอกเพื่อบำบัดมะเร็งทรวงอก เธอกล่าวว่า ตนเองตื่นขึ้นหลังการผ่าตัดเเละจำได้ถึงความเจ็บปวดรุนแรงจนเเทบหายใจไม่ได้ เเต่เธอได้รับยาเเก้ปวดเเทบจะทันที ซึ่งช่วยให้ตนเองรับมือกับอาการเจ็บปวดได้ดีขึ้นเเละทรมานน้อยลง
Knaul เป็นศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยการเเพทย์ไมอามี ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดทำให้ตัดสินใจศึกษาการจัดการความเจ็บปวดในระดับทั่วโลก เธอกล่าวว่าประสบการณ์ของตนเองทำให้นึกถึงผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ต้องเจอกับความเจ็บปวดแบบเดียวกันหรือเด็กๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือคนที่ถูกไฟลวกที่ต้องทนกับความเจ็บปวดขณะล้างแผลโดยไม่ได้รับยาแก้ปวด
Knaul เป็นประธานการศึกษาระดับนานาชาติเกี่ยวกับการลดอาการเจ็บปวด ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ผลการศึกษานี้สร้างความตกใจกับทีมนักวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้
เธอกล่าวว่า ทีมงานศึกษาเรื่องนี้ทั่วโลก โดยใช้การเข้าถึงยามอร์ฟีนเป็นตัววัด เเละพบว่าในมากกว่า 100 ชาติ มียาเเก้ปวดเพียงพอเเก่ความต้องการของผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพียงเเค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เเละประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ไม่มียาเเก้ปวดเเก่คนไข้ในช่วงที่เจ็บป่วยในระยะรุนแรงนี้
ทีมนักวิจัยพบว่า คนเกือบ 26 ล้านคนทั่วโลกรับมือกับอาการเจ็บปวดโดยไม่ได้รับยาเเก้ปวดเลย โดย 83 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านี้อาศัยในประเทศรายได้ต่ำเเละรายได้ปานกลาง ที่คนป่วยไม่ได้รับยามอร์ฟีนที่ราคาถูก
เพียงเเค่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ของยามอร์ฟีนที่ผลิตได้ทั่วโลก ถูกนำไปใช้ในประเทศรายได้ต่ำเเละปานกลาง เเละประเทศเหล่านี้จ่ายค่ายามอร์ฟีนมากกว่าประเทศร่ำรวยอย่างมาก
ในสหรัฐฯ ยามอร์ฟีนเม็ดหนึ่งมีราคาแค่ 3 เซ็นต์เท่านั้น เเต่ในประเทศรายได้ต่ำ ราคายานี้สูงขึ้นไปเป็น 16 เซ็นต์
Knaul กล่าวว่า หากทุกประเทศจ่าค่ายามอร์ฟีนราคาเดียวกัน จะต้องใช้เงิน 145 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยปิดช่องว่างความเเตกต่างในด้านการเข้าถึงยาเเก้ปวดระหว่างประเทศยากจนกับชาติร่ำรวยลงได้
Knaul เเละนักวิจัยคนอื่นๆ กำลังหารือกับธนาคารโลกถึงการแก้ปัญหาความเเตกต่างด้านการเข้าถึงยาลดความเจ็บปวด ส่วนหนึ่งของการเเก้ปัญหานี้อยู่ที่การจัดการยามอร์ฟีนเพิ่มขึ้น เเละการอบรมเเพทย์ในการฉีดยาเเก้คนป่วยเเละเฝ้าดูอาการ
การเเก้ปัญหาอีกส่วนหนึ่งทำได้ด้วยการปรับปรุงระบบสุขภาพในประเทศยากจน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)