เราอาจจะเห็นว่านักกีฬาแทบทุกประเภทต้องใช้หัวเข่าอย่างหนัก แต่ความจริงแล้วไม่เฉพาะนักกีฬาเท่านั้นที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หัวเข่า เพราะคนทั่วไปทุกเพศทุกวัยแม้กระทั่งเด็กวัยรุ่น ก็มีโอกาสจะเกิดปัญหาที่หัวเข่าได้เช่นกัน เนื่องจากหัวเข่าเป็นกระดูกข้อต่อซึ่งถูกใช้งานมากที่สุดของร่างกาย
ผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงว่า เด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บหัวเข่าในช่วงที่กำลังยืดตัวในระยะแตกวัยสาว และนักวิจัยพบว่า ในช่วงเวลานี้กล้ามเนื้อขาบางกลุ่มของเด็กผู้หญิงวัยรุ่นควรได้รับการบริหารให้แข็งแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บกับหัวเข่า
สำหรับคนทั่วไปที่มีปัญหาข้ออักเสบ ทางเลือกที่มักใช้อยู่คือการผ่าตัดและใส่หัวเข่าเทียม โดยบางส่วนของหัวเข่าเทียมทำด้วยโลหะและพลาสติก แต่ปัญหาก็คือชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกในหัวเข่าเทียมนี้มักจะสึกหรอหรือเสื่อมลงได้ตามเวลา เป็นผลให้ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่าต้องละเว้นหรือเลิกกิจกรรมบางอย่าง เช่นการวิ่งหรือการเล่นสกี
อย่างไรก็ตาม เทคนิคใหม่ที่นักวิจัยทางการแพทย์ทดลองนำมาใช้คือการนำกระดูกอ่อนซึ่งได้รับบริจาคมาผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายให้ผู้ป่วยแทน และวิธีนี้อาจใช้เพื่อรักษาปัญหาเกี่ยวกับกระดูกส่วนอื่นของร่างกายนอกจากหัวเข่าได้ เช่น กระดูกสะโพก กระดูกข้อเท้า และไหล่ เป็นต้น
อีกเทคนิคหนึ่งซึ่งนักวิจัยด้านการแพทย์เพิ่งจะทดลองใช้ คือการเพาะเลี้ยงกระดูกอ่อนขึ้นในห้องทดลอง โดยอาศัยเนื้อเยื่อที่สมบูรณ์จากหัวเข่าของผู้ป่วยเอง โดยแพทย์เปรียบเทียบวิธีนี้ว่าเหมือนกับการซ่อมหลุมบนพื้นถนน เพราะเป็นการผ่าตัดแบบที่ไม่เปิดแผลในวงกว้างและไม่เป็นอันตราย
แพทย์ให้คำแนะนำด้วยว่า สำหรับคนทุกเพศทุกวัย เราสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการบาดเจ็บที่หัวเข่าได้ ด้วยการอุ่นเครื่องก่อนเล่นกีฬาทุกประเภท พยายามรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไปเพื่อไม่ให้หัวเข่าต้องรับภาระหนัก
รวมทั้งควรพยายามหลีกเลี่ยงการยกหรือหิ้วของหนัก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อหัวเข่าโดยไม่จำเป็น