แพทย์ระบุ 'การแยกลูกหลานผู้อพยพจากพ่อแม่ กระทบต่อจิตใจเด็กถาวร'

  • Carol Pearson

Children stand and hold protest signs during a rally in front of Federal Courthouse in Los Angeles on June 26, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

การแยกเด็กจากพ่อแม่มีผลกระทบต่อจิตใจเด็กถาวร

ครอบครัวคนเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายต่างมีความหวังว่า จะได้เจอกับลูกที่ถูกพรากจากอกที่ชายแดนสหรัฐฯ เช่นเดียวกับหญิงชาวกัวเตมาลาที่ได้ลูกชายกลับคืนสู่อ้อมกอดอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้หลังจากถูกพรากจากกันนานถึงหนึ่งเดือน

ภาพถ่ายของรัฐบาลเป็นภาพของเด็กๆ ถูกขังอยู่ในกรงเเละนอนใต้ผ้าห่ม โดยเด็กเหล่านี้จำนวนหนึ่งต้องอาศัยในเต้นท์และที่พักชั่วคราวที่ตั้งอยู่ทั่วสหรัฐฯ เเละที่พักชั่วคราวบางแห่งตั้งอยู่ที่รัฐโอเรกอนที่ไกลจากรัฐเท็กซัสมาก

ทางสมาคมการแพทย์อเมริกันเตือนว่า การแยกเด็กจากพ่อเเม่และครอบครัวจะมีผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาสุขภาพตามมาซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบที่ถาวร

แพทย์หญิงโคลีน คราฟท์ ประธานสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน มีบทบาทในฐานะผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญ ที่ออกมากล่าวแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ โดยเตือนว่า เด็กเล็กที่ประสบกับความเครียดในระดับที่เป็นพิษ จะมีความบกพร่องด้านพัฒนาการด้านความสามารถทางภาษา และความสามารถตามวัยอย่างอื่น และผลกระทบร้ายเเรงทางจิตใจต่อเด็กแบบนี้อาจใช้เวลานานมากในการเยียวยา

ด้านแพทย์หญิงลิซ่า ฟอร์ทิวน่า จิตแพทย์แห่งภาควิชาการแพทย์มหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งทำงานกับเด็กๆ ที่ถูกแยกจากพ่อเเม่ที่ข้ามชายแดนมายังสหรัฐฯ อย่างผิดกฏหมาย เธอกล่าวว่า การแยกลูกจากพ่อแม่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งเเล้ว ก่อนหน้าที่ผู้นำสหรัฐฯ จะมีคำสั่งพิเศษให้ยุติ เเละมาตรการนี้มีผลกระทบต่อจิตในของเด็ก ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม

แพทย์หญิงฟอร์ทิวน่า กล่าวว่า มีเด็กหลายคนที่บอกกับตนเองว่ารู้สึกหนาว กินไม่อิ่ม เเละไม่ได้เจอพ่อเเม่หรือญาติที่จะให้กำลังใจเเละความรัก ซึ่งสร้างความเครียดแก่เด็กอย่างมาก

บรรดาเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กในที่พักชั่วคราวบางแห่งที่เด็กๆ ถูกกักตัวเอาไว้บอกว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้อุ้มหรือกอดเด็ก แม้ว่าจะเป็นเด็กที่อายุน้อยมากก็ตาม

มีเรียม โกลด์ดิน แห่งสถาบันกิล ที่ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวด้านการบาดเจ็บทางจิตใจ การเยียวยาและการศึกษา (Gil Institute for Trauma, Recovery and Education) ในรัฐเวอร์จีเนีย กล่าวว่า การสัมผัสสำคัญมากโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก เธอกล่าวว่าเวลาเราอุ้มเด็กเเละโยกตัวเบาๆ เด็กจะได้ยินจังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ใหญ่ เเละผู้ใหญ่ก็จะได้ยินจังหวะเต้นของหัวใจเด็กเช่นกัน และนี่จะมีผลให้เด็กรู้สึกดีขึ้น

แพทย์หญิงฟอร์ทิวน่า กล่าวว่า การสัมผัสจากพ่อแม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นที่รักเเละได้รับความเอาใจใส่ เด็กเล็กที่ถูกละเลย ไม่มีคนใส่ใจ หรือไม่ได้รับสัมผัสจากผู้ใหญ่ อาจจะกลายเป็นเด็กที่ไม่ตอบสนองทางความรู้สึกและเกิดความบกพร่องด้านพัฒนาการตามมา และกลายเป็นเด็กที่ไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ เด็กจะสูญเสียความสามารถในการไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนอื่น เด็กจะไม่อยากเข้าสังคม และไม่อยากสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เเม้ว่าจะได้กลับไปอยู่กับพ่อแม่อีกครั้งก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าผลกระทบนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับเด็กทุกคนเสมอไป แต่เด็กที่ยังอายุน้อยมากมีโอกาสเสี่ยงมากที่สุด และการแยกเด็กจากพ่อเเม่ อาจไปเพิ่มระดับความเครียดที่เด็กประสบอยู่เเล้วเป็นทุนเดิมจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ปลอดภัยในประเทศบ้านเกิด



(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)