ในปี พ.ศ. 2538 มีผู้ป่วยคนหนึ่งล้มป่วยด้วยเชื้อไวรัสอีโบล่าในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แต่คนไข้คนดังกล่าวกลับรอดชีวิตจากการติดเชื้อโรคร้ายนี้อย่างปาฏิหาริย์ บรรดาเเพทย์ค้นพบว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวมีสารภูมิต้านทานร่างกายหรือแอนติบอดี้ที่ต่อต้านเชื้อไวรัสอีโบล่าในกระเเสเลือด แม้แต่หลังจากที่เขาหายดีเเล้ว
นายแพทย์ แอนโธนี่ เฟาชี่ (Dr. Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติด้านภูมิแพ้เเละโรคติดต่อ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เชิญอดีตผู้ป่วยอีโบล่าคนดังกล่าวมายังสหรัฐฯ เพื่อให้ทีมนักวิจัยใช้ภูมิต้านทานจากร่างกายของเขาที่สามารถต่อต้านเชื้อไวรัสอีโบล่าได้ มาผลิตเป็นสารภูมิต้านทานโมโนโคลน (monoclonal antibody) ที่เรียกว่า mAB114 โดยหวังว่าจะสามารถใช้บำบัดเชื้อไวรัสอีโลบ่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในทางตะวันออกของคองโก
แต่นายแพทย์เฟาชี่บอกว่า สารภูมิต้านทานโมโนโคลน mAB114 นี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง
นายแพทย์เฟาชี่ กล่าวว่า ทีมงานได้ทำการทดลองบำบัดหลายครั้งกับสัตว์ทดลอง เเละพบว่าสารภูมิต้านทานที่ได้จากสัตว์ที่ติดเชื้ออีโบล่าสามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ล้มป่วยจากเชื้ออีโบล่าเเละหายจากการติดเชื้อในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม การทดลองบำบัดโรคกับสัตว์ที่ได้ผลอาจไม่ได้ผลกับคนเสมอไป
ในขณะนี้ ทีมงานของนายแพทย์เฟาชี่กำลังทำการทดลองบำบัดระยะเเรกกับอาสาสมัครที่โรงพยาบาลของสถาบันสถาบันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เเน่ใจว่าสารภูมิต้านทานโมโนโคลน mAB114 ปลอดภัยกับคน
แม้ว่ามาจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าการทดลองบำบัดนี้ได้ผลหรือไม่ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคที่รุนแรงน่าเป็นห่วงในคองโก เเละความกลัวว่าอีโบล่าอาจจะแพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งทางอาวุธที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคขณะนี้
นายแพทย์เฟาชี่กล่าวว่า ทีมงานได้ทดลองใช้สารภูมิต้านทานโมโนโคลนต่อต้านอีโบล่านี้กับผู้ติดเชื้ออีโบล่าเเล้ว 5 คน
ในงานแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้ นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม เกบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าตนเองได้รับการแจ้งว่าอาสาสมัครในการทดลองทั้งหมดสบายดี
นายแพทย์เฟาชี่ กล่าวว่า มียาต้านไวรัสชนิดหนึ่ง คือยา remdesivir ที่กำลังนำไปใช้บำบัดผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบล่าในแอฟริกาตะวันตก และถึงแม้ว่าการระบาดในพื้นที่จะสิ้นสุดไปเเล้ว แต่เนื่องจากทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสอีโบล่าสามารถคงอยู่ในเชื้ออสุจิของผู้ติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวบำบัดผู้ป่วยชายเพื่อไม่ให้แพร่เชื้ออีโบล่าสู่ผู้อื่นต่อไป
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีวิธีบำบัดโรคอีโบล่าที่พิสูจน์ว่าได้ผล บรรดานักวิทยาศาสตร์มีความหวังว่าการบำบัดด้วยสารภูมิต้านทานร่างกายอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหยุดยั้งเชื้อไวรัสอีโบล่า
ผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยนานาชาติที่นำโดยสถาบันวิจัย Scripps ชี้่ว่า การรักษาด้วยสารภูมิต้านทานร่างกายอาจเป็นทางรักษาที่มีประโยชน์ในการต่อต้านเชื้อไวรัสชนิดใหม่ๆ เเละอาจช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิต้านทานร่างกายของผู้ติดเชื้อสามารถทำลายเชื้ออีโบล่าได้หลังติดเชื้อ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)