นักวิจัยคิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจโรคหัวใจได้เเม่นยำ

Cardiovascular diseases

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิจัยคิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจโรคหัวใจได้เเม่นยำ

ผู้เชี่ยวชาญกำลังใช้เครื่องสแกนหัวใจเพื่อตรวจดูการทำงานของหัวใจของคนไข้ อุปกรณ์ที่ทันสมัยนี้ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นการทำงานของหัวใจได้อย่างละเอียด ซึ่งส่งผลให้การวินิจฉัยโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พอล ลีสัน (Paul Leeson) หทัยแพทย์ชาวอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยแห่ง อ็อกฟอร์ด กล่าวว่า บรรดาหทัยแพทย์โดยเฉลี่ยจะวินิจฉัยได้ถูกต้องราว 80 เปอร์เซ็นต์ บางคนอาจวินิจฉัยได้ดีมาก บางคนทำได้ดีกว่า และบางคนอาจวินิจฉัยได้ไม่ดีเท่า เขาคิดว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้วินิจฉัยการทำงานของหัวใจระบบใหม่นี้จะช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องทุกครั้ง

นายแพทย์ลีสัน ได้ร่วมมือกับ รอสส์ อัพตัน (Ross Upton) นักหทัยวิทยาอีกคนหนึ่ง พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ โดยเรียกโปรแกรมนี้ว่า อัลทรอมิกส์ (Ultromics) พวกเขากล่าวว่า ยิ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีข้อมูลในการศึกษามากขึ้น ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

รอสส์ อัพตัน หทัยแพทย์อังกฤษ กล่าวว่า ตนเองและลีสันเริ่มต้นด้วยการดึงภาพหัวใจและการวินิจฉัยโรค 10 – 20 ชิ้น และตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ภาพ ซึ่งมากกว่าที่คาดเอาไว้ในตอนแรก

สำหรับหทัยแพทย์ทุกคนที่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้ไปทดลองใช้ การทดสอบนี้เป็นงานที่จริงจังมากเพราะหมายถึงชีวิตของคนไข้

รอสส์ อัพตัน กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคผิดพลาดมีผลกระทบตามมาใหญ่หลวง เพราะอาจหมายความว่าคนไข้ต้องเข้ารับการผ่าตัดทั้งที่ไม่จำเป็น หรือ อาจจะแย่ไปกว่านั้น คือแพทย์อาจจะส่งคนไข้กลับบ้าน เพราะคิดว่าไม่ป่วย ทั้งๆ ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และคนไข้อาจจะเกิดอาการหัวใจวายภายนอกโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่คนไข้ควรเข้ารับการผ่าตัดทันที

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจโรคหัวใจ อัลทรอมิกส์ ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หลายอย่างด้วยกัน

รอสส์ อัพตัน หทัยแพทย์ชาวอังกฤษ กล่าวว่า มีโรคที่เกี่ยวกับหัวใจมากมายหลายอย่าง อาทิ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคความดันเลือดสูง โรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อหัวใจ และทีมงานต้องการปรับปรุงการวินิจฉัยโรคเหล่านี้ด้วยโปรแกรมอัลทรอมิกส์ เพื่อช่วยคนไข้ที่เป็นโรคเหล่านี้ให้ได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง

ทีมนักวิจัยวางแผนที่จะพัฒนาให้โปรแกรมอัลทรอมิกส์ ออกมาใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ของอังกฤษภายในปลายปีนี้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)