Your browser doesn’t support HTML5
ปัจจุบัน หลายๆ เมืองทั่วสหรัฐฯ ได้มีการสั่งห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโฟม แต่ฮาวายจะเป็นรัฐแรกที่มีมาตรการห้ามใช้พลาสติกทั่วทั้งรัฐ
ฮาวายเป็นรัฐที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการบังคับใช้พลังงานหมุนเวียน และห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อปะการัง นอกจากนี้ยังมีการยื่นร่างกฏหมายห้ามใช้ขวดเครื่องดื่ม ช้อน ส้อม ที่คนกาแฟ ถุงและหลอดที่ทำจากพลาสติก ทั้งในร้านอาหารจานด่วนและร้านอาหารแบบเต็มรูปแบบด้วย
ความพยายามดังกล่าวของฮาวายถือว่าเข้มงวดกว่าที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเป็นรัฐแรกที่ห้ามร้านอาหารที่มีพนักงานเสิร์ฟให้หลอดพลาสติกลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ได้ขอ และที่ซีแอตเทิล ซานฟรานซิสโก และเมืองอื่นๆ ที่มีการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
Mike Gabbard ส.ว.รัฐฮาวาย กล่าวว่า ฮาวายขึ้นชื่อว่าเป็นแบบอย่างให้โลกเดินตาม และครั้งนี้ก็น่าจะเป็นแบบอย่างในการปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อีกครั้ง
ส.ว. Gabbard บิดาของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต Tulsi Gabbard กล่าวว่า 95% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วโลกถูกโยนทิ้งหลังจากใช้เพียงครั้งเดียว เฉพาะในสหรัฐฯ มีการใช้หลอดพลาสติกและโยนทิ้งถึงวันละ 500 ล้านหลอด
ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งและย่อยสลายยากเหล่านี้ไปโผล่ที่กลางทะเล กลายเป็นวงแหวนขนาดมหึมาล้อมรอบเกาะฮาวายทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และกลาดเกลื่อนอยู่บนชายหาด
Stuart Coleman ผู้จัดการมูลนิธิ Surfrider ในฮาวาย กล่าวว่า พลาสติกทั้งหลายมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะต้องใช้น้ำมันในการผลิต
Eric S.S Wong เจ้าของร่วมของร้านอาหารจานด่วนสองแห่งในโอวาฮู กล่าวว่า การไม่สามารถให้บริการอาหารในภาชนะพลาสติกโฟมจะทำให้ค่าใช้จ่ายของเขาเพิ่มขึ้น ในเวลาเดียวกันนี้เขาต้องเผชิญกับค่าประกันสุขภาพสำหรับลูกจ้าง และค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เขาต้องขึ้นราคาอาหาร เช่นจากครอบครัวละ 30 ดอลล่าร์ เป็น 37 หรือ 38 ดอลล่าร์
เขากล่าวต่อไปว่า บรรจุภัณฑ์กล่องโฟม 200 กล่องมีราคา 23 ดอลล่าร์ (713 บาท) ในขณะที่กล่องแบบย่อยสลายได้ปริมาณเดียวกันมีราคาถึง 57 ดอลล่าร์ (1,767 บาท)
Chris Yankowski แห่งสมาคมร้านอาหารฮาวาย ซึ่งเป็นตัวแทนของร้านอาหาร 3,500 แห่ง ติว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกำลังพยายามทำอยู่นั้น เป็นการดำเนินการที่เร็วเกินไป และแย้งว่ายังไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าพลาสติก เนื่องจากฮาวายยังไม่มีสถานที่สำหรับทำปุ๋ยหมัก ดังนั้นจึงไม่มีสถานที่กำจัดภาชนะที่ย่อยสลายได้ ดูเหมือนว่าทางรัฐต้องการจะทำสิ่งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
สมาคมอุตสาหกรรมอาหารฮาวายซึ่งมีร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดของรัฐเป็นสมาชิก เคยคัดค้านการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมในตอนแรก แต่ตอนนี้หันมาสนับสนุนมาตรการนี้แล้ว