เข็ม ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ ยังอยู่ที่ 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ติดกันเป็นปีที่สอง 

FILE - The Doomsday Clock, seen at the National Press Club in Washington, Jan. 23, 2020, reads 100 seconds to midnight.

เหลือเวลาอีกเพียง 100 วินาทีเท่านั้นที่เข็มบนหน้าปัดของ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” หรือ Doomsday Clock จะเดินถึงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเวลาดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Bulletin of the Atomic Scientists ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดทำนาฬิกาวันสิ้นโลก คงตำแหน่งของเข็มนาฬิกาไว้ที่จุดเดิมนี้เป็นปีที่สองติดต่อกัน ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้เวลาเที่ยงคืนมากที่สุดในรอบ 75 ปี

ชารอน สควาสซอนิ ประธานร่วมของคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของ Bulletin of the Atomic Scientists และศาสตราจารย์วิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ระบุว่า แม้เข็มนาฬิกาจะยังคงอยู่ที่เดิมไม่ได้ขยับเข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนมากขึ้น แต่ก็กลับไม่ใช่เรื่องที่ดี ในทางตรงกันข้ามการที่เข็มอยู่ที่เดิมนั้นแสดงให้เห็นว่ามนุษยชาติยังคงอยู่ในช่วงวิกฤต

ทีมงานที่จัดทำนาฬิกาวันสิ้นโลกระบุว่า ความกังวลหลักที่ใช้กำหนดการเดินเข็มนาฬิกานี้ มีทั้งการขาดความมั่นคงในการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ ความตึงเครียดในยูเครน และความพยายามเพื่อสร้างความมั่นคงทางยุทธศาสตร์กับจีน

สก็อตต์ ซากาน ศาสตรจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า ความกังวลอื่นๆ ยังรวมถึงการสะสมนิวเคลียร์ของอิหร่าน และสถานการณ์ในเกาหลีเหนือทั้งการดำเนินนโยบายและความเสี่ยงที่จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุหรือไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1947 ด้วยเข็มนาฬิกาที่อยู่ที่เวลาเจ็ดนาทีก่อนเที่ยงคืน เพื่อเตือนถึงความเสี่ยงที่มนุษยชาติอาจถูกทำลายจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

สองปีต่อมา เข็มนาฬิกาขยับเข้ามาที่เวลาสามนาทีก่อนเที่ยงคืน หลังจากสหภาพโซเวียตทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก และต่อมาในปีค.ศ. 1953 เข็มนาฬิกาขยับมาอยู่ที่สองนาทีก่อนเที่ยงคืน หลังจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตทดลองอาวุธนิวเคลียร์ความร้อนเป็นครั้งแรก

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นาฬิกาวันสิ้นโลกเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญหายนะต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สร้างความปั่นป่วน

เหตุผลอื่นๆ ที่นักวิทยาศาสตร์คงเข็มนาฬิกาไว้ที่ 100 วินาทีก่อนเวลาเที่ยงคืน ยังรวมถึงการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสและสถานการณ์ของชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีนด้วย

แรเชล บรอนสัน ประธานกรรมการบริหารของ Bulleting of Atomic Scientists ระบุว่า แม้นาฬิกาวันสิ้นโลกจะเป็นสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบ แต่ความท้าทายที่นาฬิกานี้นำเสนอนั้นเป็น “เรื่องจริงอย่างมาก”

ทั้งนี้ เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกถูกขยับออกไปห่างจากเวลาเที่ยงคืนมากที่สุดเมื่อปีค.ศ. 1991 โดยเข็มอยู่ที่เวลา 23.43 น. หลังจากที่มีการบังคับใช้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม นาฬิกานี้ก็เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาหลายสิบปีว่า เป็นความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่ทำให้สถานการณ์ดูเลวร้ายเกินจริง และในช่วงปีหลังๆ ก็มีการใช้ปัจจัยอื่นในการกำหนดทิศทางของเข็มนาฬิกา นอกจากการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักเริ่มต้นของการจัดทำนาฬิกานี้

โจชัว พอลลัค บรรณาธิการของวารสาร The Nonproliferation Review และนักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Middlebury Institute of International Studies at Monterey กล่าวกับวีโอเอว่า ในช่วงปีหลังๆ นาฬิกาวันสิ้นโลกขยับใกล้เวลาเที่ยงคืนขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม การใช้ปัจจัยอื่นเป็นตัวกำหนดทิศทางของเข็ม ก็ทำให้นาฬิกานี้เป็นเครื่องเตือนภัยอันตรายจากการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ได้น้อยลงเช่นกัน