นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น แสดงความกังวลถึงการคุกคามด้านสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อความยุติธรรมทางสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนบนโลก
นายกูเตรเรส บอกว่านักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน ตกเป็นเป้าหมายในการตรวจสอบจับตา การสื่อสารด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดหรือบิดเบือน รวมทั้งการคุกคาม ข่มขู่ หรือการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคแห่งแหล่งข้อมูลมหาศาล หรือ Big Data และคืบคลานเข้ามาของเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ที่ถูกนำไปใช้ในทางมิชอบหรือไม่เหมาะสม ยิ่งทำให้เกิดการตรวจสอบหรือสอดส่องที่ไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรี ซึ่งเป็นผลกระทบที่น่ากลัวและลดพื้นที่ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จับตามองทิศทางของกระแสต่อต้านชาวยิวและแนวคิดความเกลียดชังชาวมุสลิม ซึ่งเขาพบว่า การใช้วาจาหรือคำพูดแสดงความเกลียดชังเชื้อชาติ ศาสนา หรือแนวคิดความเชื่อ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นอันตรายต่อคุณค่าแห่งประชาธิปไตย เสถียรภาพทางสังคม และสันติภาพของประชาคมโลก
เขาเตือนว่า การใช้วาจาดูถูกและประสงค์ร้าย กำลังกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป และเกิดขึ้นทั้งกับสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตยและเผด็จการ ซึ่งผู้นำทางการเมืองกระแสหลักทั่วโลกบางคนพยายามถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่พรรคต่างๆที่เคยถูกมองว่าเป็นพรรคนอกกระแส กลับสั่งสมอิทธิพลและมีอำนาจในรัฐบาล และด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกทำลายลงเช่นนี้ ยิ่งทำให้เสาหลักด้านมนุษยธรรมเริ่มอ่อนแอลงไป
ทั้งนี้ ในอีก 1 เดือนข้างหน้า 47 ชาติสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะหารือกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ให้ความใส่ใจ โดยจะติดตามตรวจสอบรายงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อาทิ ซีเรีย, เมียนมา, บุรุนดิ, ซูดานใต้, อิหร่าน, และเกาหลีเหนือ รวมทั้งหารือในประเด็นคุกคามสิทธิมนุษยชนโลก อาทิ การทรมาน, การลักพาตัว, การก่อการร้าย, และเสรีภาพด้านศาสนาทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไปเมื่อปีก่อน และกล่าวหาว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่ามีความโน้มเอียงทางการเมืองและปกป้องผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สหรัฐฯก็ยังเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้