ปัญหาโรคอ้วนสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโลกพอๆ กับสงครามและการก่อการร้าย และมากกว่าโรคพิษสุราเรื้อรัง

ปัจจุบันประชากรโลกมากกว่า 2,000 ล้านคน มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก

Your browser doesn’t support HTML5

Global Obesity

รายงานของ McKinsey Global Institute ระบุว่าปัจจุบันประชากรโลกมากกว่า 2,000 ล้านคน มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก

และคาดว่าภายในปี ค.ศ 2030 อัตราส่วนประชากรที่เป็นโรคอ้วนจะยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ต้นทุนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 2.8% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก

คุณ Dyan Hes ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็กในนครนิวยอร์ค และสมาชิกของคณะกรรมการป้องกันโรคอ้วนของสหรัฐฯ กล่าวว่า 80% ของเด็กที่เป็นโรคอ้วนจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน โดยสาเหตุหลักของโรคอ้วนของเด็กอเมริกันคืออาหารฟาสต์ฟู้ดแคลอรี่สูง

ผู้เชี่ยวชาญใช้การคำนวณ Body Mass Index (BMI) ในการตรวจสอบว่าใครเป็นโรคอ้วน โดยใช้สูตร

BMI = Weight (Kg) / Height (M)²

หากได้ตัวเลข BMI มากกว่า 25 ถือว่าน้ำหนักตัวเกิน และหากอยู่ระหว่าง 30-40 ถือว่าเป็นโรคอ้วน

รายงานชิ้นนี้ยังได้แนะนำ 44 วิธีการในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคอ้วน เช่นการณรงค์ด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง การจัดหาอาหารกลางวันที่มีประโยชน์แก่เด็กนักเรียน การติดฉลากระบุข้อมูลทางโภชนาการบนอาหารทุกประเภท ตลอดจนการให้การศึกษาแก่เด็กเล็กเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ

คุณ Dyan Hes แนะนำว่าการให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพ เริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน เช่นพากันไปเดินเล่นหลังอาหารเย็น การจอดรถให้ห่างออกไปสักหน่อยเวลาไปช้อปปิ้ง หรือการลงรถโดยสารก่อนหนึ่งป้ายเพื่อให้มีโอกาสได้เดินออกกำลังมากขึ้น

รายงานจากห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล