Your browser doesn’t support HTML5
ปัจจุบันมีการบำบัดโรคซึมเศร้าหลายวิธีที่ได้ประสิทธิผลดีแต่การบำบัดบางอย่าง อาทิ การใช้ยาลิเทียม (lithium) มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายสูง
ขณะนี้ ทีมนักวิจัยกำลังมองหาวิธีบำบัดโรคซึมเศร้าแบบใหม่ๆ หลายวิธีเพื่อลดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายลง
ในอังกฤษ ทีมนักวิทยาศาสตร์คิดว่ามีเชื้อแบคทีเรียมากมายหลายชนิดที่อยู่ในสำใส้ใหญ่ของคนเราที่อาจมีบทบาทต่อการเกิดโรคซึมเศร้า พวกเขารายงานว่าเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่เรียกกันว่าแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ (probiotics) ช่วยลดความกังวลในหนูทดลองและช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดคอติโซล (cortisol) ลงด้วย
ในการทดลองเบื้องต้นในคน นักวิจัยพบว่าการรับประทานแบคทีเรียโพรไบโอติกส์เสริมมีผลช่วยสร้างแบคทีเรียที่ดีมากขึ้นในลำใส้ใหญ่ ช่วยลดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการอักเสบลงได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์คิดว่าเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์อาจจะช่วยคนเรามีอารมณ์แจ่มใสขึ้น ลดความวิตกกังวลลง ทีมนักวิจัยกำลังวางแผนที่จะทำการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม
ในขณะเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ 6 แห่งได้ร่วมมือกันศึกษาบทบาทของอาการอักเสบที่อาจมีผลให้เกิดโรคซึมเศร้าโดยเน้นศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างโรคที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของภูมิต้านทาน อาทิ เบาหวาน โรคข้อรูมาตอยด์ กับโรคทางจิตประสาท
ทีมนักวิจัยกล่าวว่าเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยในการศึกษาที่ได้รับยาอินเทอร์เฟอร์รอน (interferon) เพื่อบำบัดอาการอักเสบในตับที่เกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบ มีอาการซึมเศร้าตามมาแม้ว่าจะไม่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนการรักษาก็ตาม พวกเขาชี้ว่ายาอินเทอร์เฟอร์รอนมีผลให้ความบกพร่องทางอารมณ์
ทีมนักวิจัยเน้นว่าพวกเขายังไม่เข้าใจถึงความเกี่ยวข้องระหว่างอาการอักเสบและโรคซึมเศร้าและมีความหวังกันว่าจะมีการผลิตยาบำบัดชนิดใหม่ๆ ที่นอกจากจะช่วยลดอาการอักเสบจากโรคต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังจะช่วยลดอาการซึมเศร้าลงด้วยหรืออาจจะมีการปรับปรุงยาต่อต้านอาการอักเสบที่มีอยู่แล้วให้นำไปใช้บำบัดคนป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย