รายงานชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน Psychological Science ระบุว่าการกอดกันนั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัด และลดความเครียดได้
นักวิจัยสำรวจความเห็นของคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรง 404 คน โดยให้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อัตราหรือความถี่ในการได้รับกอดจากเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือคนในครอบครัว โดยนักวิจัยติดตามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ 14 วันด้วยกัน นอกจากนั้นนักวิจัยยังให้กลุ่มตัวอย่างรับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าสู่ร่างกาย แล้วกักบริเวณเอาไว้เพื่อติดตามตรวจสอบอาการของโรคอย่างใกล้ชิด
ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า คนที่รู้สึกว่าตนเองได้รับการเกื้อหนุนทางสังคมจากคนรอบข้างมีโอกาสป่วยน้อยกว่า ที่น่าสนใจคือคนที่บอกว่าตนเองได้รับการสวมกอดบ่อยที่สุด ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงที่สุด และนักวิจัยยังพบด้วยว่าหากเจ็บป่วยขึ้นมา คนกลุ่มที่ได้รับการสวมกอดมากครั้ง คือกลุ่มที่หายไข้เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ค่อยมีใครให้กอดหรือไม่ค่อยกอดใคร
ศาสตราจารย์ Sheldon Cohen แห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ผู้นำการวิจัยครั้งนี้ ชี้ว่าการได้รับการสวมกอดจากคนใกล้ชิด คือแนวทางถ่ายทอดกำลังใจและความห่วงใยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยิ่งกอดบ่อยมากเท่าไร ก็อาจช่วยลดความเครียดได้มากขึ้นตามไปด้วย
รายงานก่อนหน้านี้ของศาสตราจารย์ Cohen พบว่า คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในระดับต่ำมีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง และรายงานยังพบความเกี่ยวข้องระหว่างการสวมกอดกับการทำงานที่ดีขึ้นของหัวใจและปอดด้วย
นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า การกอดนั้นจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนที่เรียกว่า Oxytocin ซึ่งช่วยเพิ่มความผูกพันด้านร่างกายและจิตใจระหว่างคนที่เรารัก ทำให้ฮอร์โมนที่ว่านี้ได้รับชื่อว่าเป็น “ฮอร์โมนแห่งความรัก” และ “ฮอร์โมนแห่งการกอด” ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญกับทั้งร่างกายและจิตใจ
รายงานจาก Carnie Mellon University และ CBS / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล