Your browser doesn’t support HTML5
เด็กหญิง เฮลี่ย์ เเทท (Hayliee Tat) อายุ 11 ปี ใช้เวลาเดินทางนานสองชั่วโมงครึ่งพร้อมกับครอบครัวเพื่อเข้าชมงาน โอเพ่น เฮ้าส์ (Open House) เกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) หรือ ยูเอสซี
งานประจำปีที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นนี้ ดึงดูุดนักเรียนระดับประถมเเละมัธยมจากนครลอสเองเจลลีสเเละเมืองอื่นๆ ให้เข้าร่วมงาน เพื่อจุดประกายความสนใจของเด็กนักเรียนต่อวิทยาการหุ่นยนต์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศ Accenture และหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Girls Who Code ชี้ว่า ในสหรัฐฯ มีจำนวนนักศึกษาที่เรียนจบด้านคอมพิวเตอร์ในระดับมหาวิทยาลัย น้อยกว่าจำนวนงานที่มีในตลาดงาน
และในบรรดาคนที่สามารถสมัครเข้าทำงานด้านคอมพิวเตอร์ มีผู้หญิงน้อยมาก และตัวเลขของศูนย์แห่งชาติเพื่อการศึกษา (National Center for Education) ชี้ว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีผู้หญิงจำนวนน้อยกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวสหรัฐฯ ทั้งหมดที่เรียนจบด้านวิชาคอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยแห่งเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย กำลังพยายามส่งเสริมโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการด้านหุ่นยนต์เเละคอมพิวเตอร์ โดยการจัดวันเยี่ยมชม
เเคทที มิลล์ส (Katie Mills) ผู้จัดการวันเยี่ยมชมวิทยาการหุ่นยนต์ กล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยต้องการให้เด็กๆ ได้เห็นหุ่นยนต์จริงๆ ได้ฟังคำบรรยายของนักศึกษาปริญญาเอกเเละอาจารย์ประจำภาควิชา พูดคุยถึงงานวิจัย เเละความสำคัญของวิทยาการหุ่นยนต์ ตลอดจนบทบาทของหุ่นยนต์ต่อสังคม
เธอกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เด็กๆ ตื่นเต้นมากกับการเข้าเยี่ยมชม
เเคทที มิลล์ส ยังดูแลโครงการส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ เเละคณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถมและมัธยมของภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์วิทเทอร์บี ของมหาวิทยาลัยยูเอสซี (USC’s Viterbi School of Engineering)
จุดประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อให้เด็กได้รู้จักวิทยาการด้านหุ่นยนต์มากขึ้น เพื่อดึงดูดให้เด็กสนใจเรียนวิชาการเขียนรหัสคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น
เธอกล่าวว่า การเขียนรหัส หรือ โค้ดดิ้ง (Coding) มีความจำเป็นมากขึ้นในโลกปัจจุบัน ในฐานะภาษาที่สองที่ทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ควรได้เรียนรู้ แต่มีผู้หญิงที่เข้าเรียนสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในระดับมหาวิทยาลัยจำนวนน้อย ในขณะที่มีงานด้านนี้มากมาย
หลายคนมองว่าสาเหตุที่ผู้หญิงไม่เข้าเรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์นี้ อาจเกิดจากการมองไม่เห็นด้านสร้างสรรค์ของการเขียนรหัส เเละไม่ตระหนักถึงการใช้งานจริงๆ ของวิชาการด้านคอมพิวเตอร์
นักวิชาการบางคนชี้ว่าต้องกำจัดความเชื่อผิดๆ ที่ว่าวิชาการเขียนรหัสกับวิชาคอมพิวเตอร์เป็นวิชาที่โดดเดี่ยวจากสังคม และหากทำได้ จะช่วยดึงดูดเด็กผู้หญิงให้สนใจเรียนด้านคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น
เด็กหญิงเเทท บอกว่า สนุกสนานกับการเข้าร่วมทีมวิทยาการหุ่นยนต์ เพราะได้ร่วมมือกันสร้างหุ่นยนต์โดยใช้ตัวต่อของเล่นเลโก้
การให้เด็กได้รู้จักกับวิทยาการหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ตั้งเเต่ก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นกุญแจสำคัญ แต่มีโรงเรียนในสหรัฐฯ ไม่มากนักที่มีแหล่งทรัพยากรด้านนี้
มิลล์ส แห่งมหาวิทยาลัยยูเอสซี กล่าวว่า โรงเรียนในสหรัฐฯ อาจไม่มีอุปกรณ์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์เพียงพอ หรืออาจมีครูที่ไม่มั่นใจที่จะสอนวิชาการด้านคอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ได้ร่วมมือกับโรงเรียนแห่งต่างๆ ในพื้นที่ ครู เเละนักเรียน เพื่อส่งเสริมความสนใจด้านนี้ โดยหวังว่าจะช่วยดึงดูดเด็กนักเรียนที่มีโอกาสน้อย ตลอดจนเด็กผู้หญิง ให้สนใจเรียนต่อทางด้านวิชาการคอมพิวเตอร์และวิทยาการหุ่นยนต์กันให้มากขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)