Your browser doesn’t support HTML5
การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสทำให้คู่รักจำนวนมากทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกต้องเลื่อนวันสำคัญ หรืองานแต่งงานออกไป
แต่ในตอนนี้บางพื้นที่ได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์เรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะกันบ้างแล้ว คู่รักจำนวนมากจึงเริ่มคิดที่จะจัดงานแต่งงาน อย่างไรก็ตามคู่บ่าวสาวอาจต้องสวมหน้ากากอนามัยในงานแต่ง และเรื่องนี้ก็นำไปสู่ปัญหาบางอย่าง
หลายๆ คู่ไม่อยากจัดงานแต่งงานที่ดูเหมือนมีโรคระบาดอยู่ในงาน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อจำกัดเกี่ยวกับการชุมนุมของคนหมู่มาก เช่นการสวมหน้ากาก จำกัดจำนวนแขกที่มางาน ตลอดจนการเว้นระยะห่างทางสังคม
ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานด้วยว่าสถานที่จัดงานแต่งงานในประเทศตุรกีได้เปิดให้บริการอีกครั้ง แต่มีข้อจำกัดหลายประการ เช่นต้องตรวจวัดอุณหภูมิของแขกก่อนเข้างาน โต๊ะอาหารแต่ละโต๊ะต้องอยู่ห่างจากกัน และทุกๆ คนในงานรวมทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วย
บริษัทวิจัยการตลาด KPMG ให้ข้อมูลว่าทุกๆ ปีชาวอินเดียใช้จ่ายเงินประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการจัดงานแต่งงาน ส่วนในสหรัฐฯ ก็ไม่แพ้กันเพราะมีการใช้เงินในเรื่องนี้ปีละมากกว่า 72,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามสถานที่จัดงานแต่งงานในสหรัฐฯ บางแห่งไม่ปฏิบัติตามนโยบายด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพราะต้องการเอาใจลูกค้า ซึ่งอาจทำให้คนทำงานในธุรกิจนี้ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง
บรรดานักวางแผนงานแต่งงาน ช่างภาพ และนักดนตรี เป็นกลุ่มคนที่หารายได้จากงานแต่งงานและงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่การระบาดใหญ่ทำให้รายได้ของพวกเขาหยุดชะงักไปในทันที
ดังนั้นในตอนนี้เมื่อมีคู่รักกำลังจะแต่งงานกันมากขึ้น ผู้ที่ทำงานในวงการนี้จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงาน เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้คนเริ่มเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพในงานแต่งงานกันบ้างแล้ว
Susan Stripling ช่างภาพจากนครนิวยอร์ก กล่าวว่าสถานที่จัดงานบางแห่งไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสวมหน้ากากหรือการจำกัดจำนวนแขกที่มาร่วมงานแต่งงาน
Cherie Schrader ช่างภาพจากนครชิคาโกบอกกับสำนักข่าว The Associated Press (AP) ว่าเธอรู้สึกว่าถูกหลอก ก่อนที่จะรับงานถ่ายภาพ Schrader ได้รับการบอกกล่าวว่าทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยทั้งหมด แต่เมื่อเธอเข้าถ่ายภาพในงานแต่งงานในเดือนกรกฎาคม เธอกลับพบว่าคนในงาน 165 คนไม่ได้สวมหน้ากาก และไม่มีสัญญาณใดๆ ของการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย ซึ่งเธอบอกว่ามันดูเหมือนเป็นงานแต่งงานทั่วๆ ไปในสมัยที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วน Alexis Alvarez นักวางแผนจัดงานแต่งงานจากนครชิคาโกกล่าวว่า ในงาน Bridal Party หรืองานฉลองก่อนการแต่งงานที่เธอจัดขึ้นนั้นมีการลดจำนวนแขกที่มาร่วมงาน เพื่อช่วยในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม และยังขอให้แขกทุกคนสวมหน้ากากด้วย
ส่วนในงานแต่งงาน Alvarez ใช้มาตรการด้านความปลอดภัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโต๊ะอาหารให้ห่างกันมากกว่าปกติ หากเป็นไปได้แขกในงานจะถูกจัดกลุ่มตามครอบครัว และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาคนแน่นในงาน เธอแนะนำให้คู่สมรสบางคู่จัดงานแต่งงานแยกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในช่วงเวลาที่ต่างกัน
คู่รักบางคู่โต้แย้งว่าการใส่หน้ากากจะทำลายความทรงจำในวันสำคัญของพวกเขา บางคู่ก็ให้แขกเป็นผู้เลือกเองว่าจะสวมหน้ากากหรือไม่ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่สวมหน้ากากที่สวยงามเข้ากับชุดแต่งงานของตน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้งานแต่งงานที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นยังคงหายาก แต่ก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน