'เมอร์เคิล' เผชิญมรสุมการเมืองสั่นคลอนเก้าอี้นายกฯ เยอรมนี

Germany Merkel

Your browser doesn’t support HTML5

'เมอร์เคิล' เผชิญมรสุมการเมืองสั่นคลอนเก้าอี้นายกฯ เยอรมนี

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกล่า เมอร์เคิล คือเจ้าของฉายา “สตรีเหล็ก” ผู้ได้รับความเคารพนับถือไปทั่วโลก แต่ในเยอรมนี เธอกำลังเผชิญวิกฤติทางการเมืองที่อาจทำให้เธอไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ครบวาระในปี ค.ศ. 2021

ตั้งแต่พรรคคริสเตียน เดโมแครต ยูเนียน (Christian Democrat Union) ของนางอังเกล่า เมอร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ทำผลงานได้น่าผิดหวังในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อปีที่แล้ว ดูเหมือนนางเมอร์เคิลต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองหลายระลอกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในเยอรมนี Bild พาดหัวตัวโตเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “อังเกล่าจะยังสามารถเป็นนายกฯ ได้หรือไม่?”

เมื่อเดือนที่แล้ว สมาชิกพรรค Christian Democrat Union (CDU) มีมติให้ถอดถอนนายโวลค์เคอร์ เคาเดอร์ (Volker Kauder) หัวหน้าพรรค CDU ซึ่งเป็นคนสนิทของนางเมอร์เคิล และแทนที่ด้วยนายราล์ฟ บริงค์เฮาส์ (Ralph Brinkhaus) ซึ่งไม่พอใจต่อนโยบายเดินสายกลางและการสนับสนุนสหภาพยุโรปของนางเมอร์เคิล แต่ต้องการให้พรรค CDU มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อต้านกระแสนิยมของพรรคแนวทางขวาจัด Alternative for Germany ที่กำลังมาแรง

ด้านนายกฯ เมอร์เคิล พยายามใช้หลายวิธีเพื่อควบคุมความวุ่นวายทางการเมือง รวมทั้งการประกาศในสัปดาห์นี้ว่า จะให้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลวิ่งบนถนนในเยอรมนีได้ต่อไป ซึ่งเป็นกรณีความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากข่าวอื้อฉาวของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ โฟล์กสวาเกน เรื่องการใช้ซอฟท์แวร์ปลอมแปลงระดับมลพิษที่รถยนต์ดีเซลปล่อยออกมา จนมีเสียงเรียกร้องให้มีคำสั่งห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งบนท้องถนน

กรณีอื้อฉาวที่ถูกเรียกว่า ‘Dieselgate Scandal’ ดังกล่าว กลายเป็นความท้าทายทางการเมืองครั้งสำคัญของนางเมอร์เคิล เนื่องจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถดีเซลและบริษัทรถยนต์ต่างต่อต้านแผนห้ามใช้รถดีเซล โดยระบุว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงอย่างหนักเรื่องการให้เงินชดเชยแก่บรรดาเจ้าของรถดีเซล

นักวิเคราะห์การเมืองเยอรมนี ระบุว่า การที่รัฐบาลเยอรมนีแสดงท่าทีนิ่งเฉยต่อเสียงเรียกร้องนี้ อาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมต่อพรรค CDU ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนนี้ ประกอบกับอิทธิพลของนางเมอร์เคิลภายในพรรค CDU ที่กำลังลดลง ทำให้นางเมอร์เคิลถูกมองว่า ไม่ใช่ผู้นำที่แข็งแกร่งเหมือนในอดีตอีกต่อไป

ยังไม่รวมถึงการเปิดเผยของสื่อในเยอรมนีเรื่องปริมาณการส่งออกอาวุธของเยอรมนีไปยังซาอุดิอาระเบีย ที่เพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่านางเมอร์เคิลรับปากไว้แล้วว่าจะระงับการขายอาวุธให้กับประเทศหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสงครามในเยเมนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพูดถึงการสิ้นสุดเส้นทางทางการเมืองของนางเมอร์เคิล เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี ค.ศ. 2015 ในช่วงที่เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนโยบายเปิดรับผู้อพยพเข้าประเทศ บรรดานักวิเคราะห์และสื่อมวลชนก็ต่างคาดการณ์ว่าพรรคของเธออาจไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ แต่ผลปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้น

คุณแอนดรูว์ บัลค์เคลลีย์ (Andrew Bulkeley) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Handelsblatt Global ในกรุงเบอร์ลิน ชี้ว่า สื่อมวลชนต่างเรียกร้องให้นางเมอร์เคิลลาออกตั้งแต่วันแรกที่เธอเข้ารับตำแหน่ง แต่เสียงวิจารณ์มากมายเหล่านั้นยังทำอะไรเธอได้ไม่มากนัก

ถึงกระนั้น ดูเหมือนวิกฤติการเมืองภายในพรรคพันธมิตรร่วมรัฐบาลที่เธอกำลังเผชิญเวลานี้ รุนแรงกว่าสิ่งที่เธอเคยประสบมาในช่วง 13 ปีของการครองอำนาจ และนั่นยิ่งทำให้มีเสียงดังหนาหูขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับพาดหัวข่าวของ Bild ที่ว่า “นางอังเกล่าจะยังสามารถเป็นนายกฯ ต่อไปได้หรือไม่?”

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Jamie Dettmer)