นักวิจัยปลดล็อกจีโนมสายพันธุ์กาแฟอาราบิกา เพื่อค้นหาต้นกำเนิดของกาแฟอันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมระดับโลก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกาแฟโบราณของแท้ เพราะมีอายุเก่าแก่เกือบ 1 ล้านปีก่อนทีเดียว ตามรายงานของรอยเตอร์
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics ฉบับล่าสุดนี้ นักวิจัยถอดรหัสจีโนมกาแฟอาราบิกา 39 สายพันธุ์ ซึ่งย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 18 เพื่อสร้างจีโนมกาแฟคุณภาพสูงสุดแห่งยุคปัจจุบัน ในชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า Coffea arabica นอกจากนี้ ยังค้นพบภูมิภาคเฉพาะของจีโนมสายพันธุ์กาแฟที่มีบทบาทสำคัญในการเพาะพันธุ์และต่อต้านโรคทางพันธุกรรมที่เกิดกับต้นกาแฟอีกด้วย
นักวิจัยไขข้อข้องใจของจีโนมกาฟาอาราบิกา และสืบค้นจนพบต้นกำเนิดของกาแฟสายพันธุ์นี้ว่าเป็นการผสมระหว่างกาแฟสองสายพันธุ์ คือ Coffea canephora และ Coffea eugenioides ย้อนกลับไปราว 610,000 ปี ถึง 1 ล้านปีก่อน ในป่าที่เอธิโอเปีย นั่นหมายความว่ากาแฟสายพันธุ์นี้เก่าแก่กว่าโฮโมเซเปียนส์ในแอฟริกา ที่มีหลักฐานการค้นพบการมีอยู่ของบรรพบุรุษของมนุษย์ที่นั่นเมื่อราว 300,000 ปีก่อน
วิกเตอร์ อัลเบิร์ต นักชีววิทยาจาก University at Buffalo ในนิวยอร์ก หัวหน้าการศึกษานี้ บอกกับรอยเตอร์ว่า “อาราบิกาเป็นหนึ่งในพืชพันธุ์ชั้นนำของโลก และมีบทบาทสำคัญในภาคการเกษตรในประเทศที่เพาะปลูก”
นักวิจัยยังพบว่ากาแฟอาราบิกามียุคที่เติบโตงอกเงยและถดถอยเช่นกันในช่วง 1 ล้านปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวนผิดธรรมชาติในอดีต ก่อนที่กาแฟจะถูกเก็บเกี่ยวครั้งแรกโดยมนุษย์ในเอธิโอเปียและเยเมน และกลายเป็นวัฒนธรรมระดับโลกจนถึงทุกวันนี้
แพทริก เดสคอมเบส ผู้เชี่ยวชาญด้านยีน จาก Nestlé Research and lecturer at the Swiss Federal Institute of Technology (EPFL) หัวหน้างานวิจัยอีกคน บอกด้วยว่า “กาแฟกับมนุษยชาติมีความใกล้ชิดกันในแง่ประวัติศาสตร์ ในประเทศที่ผลิตกาแฟ กาแฟอาราบิกาเป็นตัวแทนที่มากกว่าแค่พืชพันธุ์ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ของแต่ละประเทศที่เพาะปลูกด้วย” และว่าการวิจัยนี้ “ปูทางเพื่อสร้างกาแฟสายพันธุ์ใหม่ที่ทานทนต่อโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีรสชาติที่แปลกใหม่”
ทั้งนี้ กาแฟเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่บริโภคกันอย่างแพร่หลายที่สุดโลก โดยผู้คนดื่มกาแฟกันราว 2,250 ล้านแก้วต่อวัน เช่นเดียวกับเป็นพืชพันธุ์ที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก โดยกาแฟอาราบิกามีการจำหน่ายกันเป็นส่วนใหญ่ในตลาดโลก ให้รสสัมผัสที่เหนือกว่ากาแฟโรบัสตาที่มักอยู่ในรูปแบบของกาแฟสำเร็จรูป
- ที่มา: รอยเตอร์