Your browser doesn’t support HTML5
ทีมนักวิจัยนานาชาติชี้ว่า ผลการวิจัยนี้อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงที่เรียกว่า เมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression) ที่ได้รับการบำบัดด้วยยาต้านอาการซึมเศร้าบางคนจึงมีอาการไม่ดีขึ้น
พวกเขากล่าวว่า ผลการวิจัยนี้อาจจะช่วยนำทางไปสู่การพัฒนาวิธีบำบัดโรคซึมเศร้าวิธีใหม่
การศึกษาครั้งนี้ถือว่าเป็นการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดในด้านนี้ ซึ่งทีมนักวิจัยพบว่าสาเหตุของโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับการแปรผันของพันธุกรรม
มีคนทั่วโลก 14 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง เเละเป็นสาเหตุหลักของความพิการในระยะยาวในประชากรทั่วไป แต่มีคนป่วยเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ตอบสนองดีกับยาที่ใช้บำบัดกันในปัจจุบัน
เจอร์โรม บรีน (Gerome Breen) ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (King's College London) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมนักวิจัยนานาชาติทีมนี้ กล่าวว่า พันธุกรรมแปรผันแบบต่างๆ ที่ทีมนักวิจัยค้นพบ มีศักยภาพในการช่วยปรับปรุงการบำบัดโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นด้วย
การวิจัยครั้งนี้เป็นความร่วมมือในระดับทั่วโลก โดยมีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงมากกว่า 135,000 คนทั่วโลก เเละจากคนป่วยควบคุมอีกราว 344,000 คนเพื่อใช้เปรียบเทียบ
แคทเธอรีน ลิววิส (Cathryn Lewis) ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งจาก มหาวิทยาลัย คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ที่ทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยนานาชาติทีมนี้ กล่าวว่า การศึกษานี้ได้สร้างความเข้าใจมากขึ้นต่อปัจจัยทางพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า แต่เธอบอกว่าการค้นพบนี้เป็นเพียงก้าวย่างเเรกเท่านั้น
เธอกล่าวว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาการแปรผันทางพันธุกรรมแบบต่างเพิ่มเติม เเละเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับต้นเหตุของความเครียดทั้งทางพันธุกรรมเเละที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเเวดล้อมว่า เมื่อรวมกันเเล้วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้ามากขึ้นได้อย่างไร
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)