Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ Riken และจากมหาวิทยาลัยโอซาก้าของญี่ปุ่น ซึ่งศึกษาข้อมูลด้านพันธุกรรมและความชอบด้านอาหารของมนุษย์ โดยอาศัยข้อมูลจากชาวญี่ปุ่นกว่า 160,000 คน ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่องดังกล่าวในวารสารวิชาการ Nature Human Behavior
โดยการศึกษาที่ว่านี้ได้พบความเกี่ยวพันระหว่างยีน หรือสารพันธุกรรม กับอุปนิสัยหรือความพึงพอใจในอาหาร 13 อย่าง นับตั้งแต่เรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ ความชอบเครื่องดื่มและอาหาร ไปจนถึงลักษณะความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งและเบาหวาน เป็นต้น
นักวิจัยกล่าวว่า เราทราบกันมาก่อนแล้วว่าสิ่งที่เราทานนั้นมีส่วนกำหนดสิ่งหรือสภาวะที่เราเป็น และการศึกษาเรื่องนี้ก็ทำให้เราเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เราชอบทานนั้นอาจถูกกำหนดมาก่อนล่วงหน้าจากลักษณะทางกรรมพันธุ์
การศึกษาที่ว่านี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะหาข้อมูลสนับสนุนเรื่องการออกแบบยาหรือการรักษาโรคต่าง ๆ แบบเฉพาะตัว โดยได้เก็บตัวอย่างของดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมรวมทั้งข้อมูลด้านอื่น เช่น รูปแบบการใช้ชีวิตและลักษณะการกินอาหาร เป็นต้น
นักวิจัยญี่ปุ่นได้พบตำแหน่งของสารพันธุกรรมเก้าตำแหน่ง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความโน้มเอียง หรือความพึงพอใจของคนเราที่จะเลือกทานชา กาแฟ แอลกอฮอล์ โยเกิร์ต เนย ถั่วเหลืองหมัก เต้าหู้ ปลา เนื้อ หรือผัก เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการศึกษาในทำนองดังกล่าวในยุโรปมาแล้ว และได้พบว่า ยีนหรือลักษณะทางพันธุกรรมนั้นจะมีส่วนกำหนดว่าเราจะชอบทาเนยหรือน้ำมันบนแผ่นขนมปังหรือจะชอบอาหารรสเค็มหรือไม่ เป็นต้น
นอกจากนั้น การศึกษาในยุโรปยังได้พบด้วยว่า ถ้าเรามียีนที่ทำให้ชอบความขม บุคคลนั้นก็มักจะมีแนวโน้มที่จะชอบกาแฟ หรือแอลกอฮอล์ ในขณะที่คนซึ่งมียีนที่ไม่ชอบรสขมก็มักจะหันไปเลือกดื่มชาแทน เป็นต้น
นักวิจัยบอกว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความพึงพอใจเรื่องอาหารนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการออกแบบทางโภชนาการ ที่นอกจากจะเพิ่มแรงจูงใจด้านรสชาติแล้ว ยังตอบสนองความต้องการด้านอาหารที่มีประโยชน์เฉพาะตัวด้วย