การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่เกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านชีววิทยาของพฤติกรรมทางเพศยืนยันว่า "ยีนเกย์" ไม่มีอยู่จริง แต่การผสมผสานที่ซับซ้อนของลักษณะทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลนั้นๆ ในการมีรสนิยมชอบเพศเดียวกันหรือไม่
การศึกษาวิจัยซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับ DNA และประสบการณ์ทางเพศจากประชากรเกือบครึ่งล้านคน พบว่า มีลักษณะทางพันธุกรรม 5 ชนิดที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังห่างไกลจากการที่จะบ่งชี้ลักษณะทางเพศของแต่ละบุคคลได้
Andrea Ganna นักชีววิทยาจากสถาบัน Molicular Medicine ใน Finland ผู้ร่วมในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า นักวิจัยสแกนจีโนมทั้งหมดของมนุษย์ และพบว่ามีอยู่ห้าจุดซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ว่าบุคคลนั้น ๆ เป็นผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศหรือไม่
และว่าลักษณะทางพันธุกรรมทั้งห้านี้มีผลกระทบน้อยมากต่อลักษณะทางเพศ โดยรวมแล้วน้อยกว่า 1%
ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อม การอบรมสั่งสอน บุคลิกภาพ ตลอดจนการเลี้ยงดู ล้วนมีอิทธิพลต่อรสนิยมทางเพศของแต่ละบุคคลมากกว่าลักษณะทางพันธุกรรม เช่นเดียวกับบุคลิกภาพ ลักษณะพฤติกรรม และอุปนิสัยในด้านอื่นๆ ด้วย
การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจประชากรกว่า 470,000 คนที่ได้มอบตัวอย่างดีเอ็นเอและข้อมูลการใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษ แก่ Biobank ของอังกฤษ และบริษัททดสอบลักษณะทางพันธุกรรม 23andMeInc ของสหรัฐ
นักวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ระบุว่า ไม่พบรูปแบบที่ชัดเจนในความแตกต่างของลักษณะทางพันธุกรรม ที่สามารถใช้ทำนายหรือบ่งชี้พฤติกรรมทางเพศของแต่ละบุคคลได้
บรรดานักรณรงค์ด้านสิทธิทางเพศล้วนพึงพอใจกับการศึกษาชิ้นนี้ เนื่องจากเป็นการแสดงหลักฐานเพิ่มเติมว่า การเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์