ทุกๆ วัน เอเดน ลี (Aiden Lee) จะเดินทางไปรอบ ๆ กรุงไทเปด้วยยานพาหนะสองล้อเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ อีกหลายพันคน
แต่ในขณะที่เพื่อนร่วมทางส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปที่ปั๊มน้ำมันเพื่อเติมน้ำมัน เขากลับนำจักรยานยนต์ไฟฟ้าไปยังสถานีแลกเปลี่ยนแบตเตอรีที่มีแพร่หลายมากขึ้นในไต้หวัน ซึ่งผู้ออกแบบกล่าวว่า เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยเติมพลังให้กับยานพาหนะที่เปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ไฟฟ้าได้
ลีใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จซ้ำได้ของบริษัทสตาร์อัพ Gogoro สัญชาติไต้หวันตั้งแต่ปี 2015 ทำให้เขาได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกจำนวน 450,000 คนที่เปลี่ยนแบตเตอรี่โดยเฉลี่ย 330,000 ก้อนในแต่ละวัน ตามข้อมูลของทางบริษัท
ลีบอกว่า การใช้แบตเตอรี่ดังกล่าวนี้มีราคาแพงกว่าการซื้อน้ำมันเบนซินเดือนละประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบัน Gogoro กำลังมองหาการขยายธุรกิจในภูมิภาคและในนครนิวยอร์ก ตอนนี้ทั่วไต้หวันมีสถานีแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่มากกว่า 2,300 แห่งนอกร้านสะดวกซื้อหรือตามที่จอดรถ ซึ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าหรือโมเพด (Moped) จะจอดรถเพื่อทำการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่หมดแล้วกับก้อนที่ชาร์จเสร็จใหม่ ๆ
อย่างไรก็ดี ความพยายามครั้งก่อนในการเปิดตัวธุรกิจการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้แสดงให้เห็นถึงความยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
บริษัทต่าง ๆ ในจีน สหรัฐฯ และอิสราเอลต่างประสบปัญหาในการจัดหาสถานที่แลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการสร้างสถานีชาร์จที่สูง และต้องใช้เวลามากกว่าในการชาร์จเซลล์ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ อีกด้วย
ฮอเรซ ลูค (Horace Luke) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของ Gogoro กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้ดีกว่าสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากแบตเตอรี่และสถานีไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มาก กล่าวคือ แทนที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถสี่ล้อ ก็สร้างเพียงสถานีที่มีลักษณะเหมือนกับตู้ขายของอัตโนมัติตามสถานที่ต่าง ๆ
อลัน แพน (Alan Pan) รองประธาน Gogoro กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปัจจุบันในสี่เมืองใหญ่ของไต้หวันมีสถานีแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่มากกว่าปั๊มน้ำมันแล้ว และว่าเป้าหมายของบริษัทในปี 2022 คือการมีจำนวนสถานีดังกล่าวมากกว่าปั๊มน้ำมันทั่วทั้งเกาะ
ด้วยจำนวนการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มากกว่า 240 ล้านครั้งตั้งแต่ปี 2015 Gogoro สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงได้ประมาณ 360,000 ตัน
ลูค กล่าวกับ AFP ในการให้สัมภาษณ์ว่า Gogoro กำลังพยายามสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีความยั่งยืนและสามารถควบคุมภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
ข้อมูลของรัฐบาลไต้หวันระบุว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 21% ของรถจักรยานยนต์ทั้งหมดในไต้หวัน โดยที่ยอดขายน้ำมันเบนซินแบบดั้งเดิมก็ลดลงทุก ๆ ปี
ลูคกล่าวด้วยว่า Gogoro กำลังจะขยายตลาดผ่านพันธมิตรท้องถิ่น ออกไปสู่ตลาดมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเมืองที่มีหมอกควันปกคลุม โดยได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม รวมทั้ง Hero MotoCorp ในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก Yadea บริษัทสัญชาติจีน ผู้ผลิตจักรยานไฟฟ้าชั้นนำของโลก และ Gojek บริษัทบริการเรียกรถของอินโดนีเซีย
ที่ประเทศจีนได้เปิดตัวระบบแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเมืองหางโจวเมื่อเดือนตุลาคม โดยมีแผนจะขยายไปยังเมืองอื่น ๆ ในปีนี้
เมื่อปีที่แล้ว อินเดียได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนที่เป็นสิ่งจูงใจมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สำหรับภาคยานยนต์เพื่อกระตุ้นการผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้าและไฮโดรเจน ขณะที่อินโดนีเซียเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ผลิต บริษัทขนส่ง และผู้บริโภค
ลูค ผู้บริหารระดับสูงของ Gogoro กล่าวส่งท้ายว่า เขาคิดว่าธุรกิจการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่นี้เรียกได้ว่าเป็น game Changer หรือตัวพลิกสถานการณ์อย่างแท้จริง
- ที่มา: AFP