'องค์กรต่างชาติ-นักวิเคราะห์-สื่อนอก' ให้ความเห็นต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่

Thanathorn Juangroongruangkit, the founder of Thailand's Future Forward Party, looks on during the launch of the party in Bangkok, Thailand, March 15, 2018.

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทย มีคำตัดสินในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค ได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์มากมายในหมู่ผู้ติดตามการเมืองไทย สื่อมวลชนต่างชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

คดีการยุบพรรคอนาคตใหม่นี้ สืบเนื่องจากคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้พิจารณาว่า การกระทำของพรรคเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยได้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท ต่อพรรคการเมืองต่อปีหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ นายธนาธร เคยกล่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่า ตนได้ให้พรรคกู้ยืมเงินสองครั้ง เป็นจำนวน 191.2 ล้านบาท เพราะต้องใช้จ่ายในการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562

Thailand's Future Forward Party leader Thanathorn Juangroongruangkit, center, talks to reporters during a press conference at the party's headquarters in Bangkok, Jan. 21, 2020.

การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการส่งสัญญาณไปยังชาวไทยหกล้านคนว่า เสียงของพวกเขาไม่มีความหมาย
ฟรานซิสกา แคสโตร


สื่อนิวยอร์ก ไทม์ส ในสหรัฐฯ รายงานข่าวกรณีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างอิงความเห็นของ ฟรานซิสกา แคสโตร นักการเมืองชาวฟิลิิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Asean Parliamentarians for Human Rights

"การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการส่งสัญญาณไปยังชาวไทยหกล้านคนว่า เสียงของพวกเขาไม่มีความหมาย" นักการเมืองชาวฟิลิปปินส์กล่าว "การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วควรจะเป็นการสิ้นสุดของยุคทหารครองอำนาจ แต่จนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น"

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไทยหลายพรรคถูกยุบ ผู้บริหารและสมาชิกของพรรคเหล่านั้นจำนวนมากต่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาหลายปี เช่นเดียวกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ที่ให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลา 10 ปี

SEE ALSO: สัมภาษณ์พิเศษ: ‘ธนาธร’ เตรียมตัวรับคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ-รณรงค์แก้รัฐธรรมนูญเดือน ส.ค.นี้

แถลงการณ์ขององค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ Amnesty International ระบุว่า "คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อข่มขู่คุกคาม ล่วงละเมิดและดำเนินคดี โดยมีเป้าหมายไปที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม"

"การยุบพรรคอนาคตใหม่คือตัวอย่างหนึ่งที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยกระทำต่อผู้นำและสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นับตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปี 2562 ซึ่งผู้มีอำนาจได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่การยุบพรรคการเมือง ไปจนถึงการตัดสิทธิผู้นำพรรคอนาคตใหม่ในการเข้าไปนั่งในรัฐสภา"

แถลงการณ์ของผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคของ Amnesty International นายนิโคลาส เบเกลิน (Nicholas Bequelin) ยังเรียกร้องว่า "รัฐบาลไทย สมาชิกรัฐสภา และพรรคการเมืองอื่น ๆ ร่วมกันปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมในประเทศไทย ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศที่นิ่งเฉยมาตลอดต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ก็ควรออกมาเรียกร้องอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน"

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในการเมืองไทย จากกรณีการยุบพรรคการเมืองของทักษิณ มาจนถึงพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร
รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์


ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์การเมืองไทยบางคนเชื่อว่า การตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่อาจนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนผ่านการจัดตั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ เนื่องจากผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่จำนวนมากล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่เคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับสำนักข่าว อัล-จาซีรา ถึงเรื่องนี้ว่า "เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในการเมืองไทย จากกรณีการยุบพรรคการเมืองของทักษิณ มาจนถึงพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร"

ดร.ฐิตินันท์ เชื่อว่าจากนี้พรรคอนาคตใหม่จะค่อย ๆ อ่อนแอลง เนื่องจาก ส.ส.ส่วนหนึ่งอาจย้ายไปอยู่พรรคอื่น

"แต่กลุ่มการเมืองในนามของ 'อนาคตใหม่' จะยังคงเติบโตต่อไป เมื่อพิจารณาจากประวัติความนิยมในพรรคการเมืองนี้ และการที่คนรุ่นใหม่ต้องการช่องทางแสดงออกทางการเมืองเพื่ออนาคตของพวกเขาเอง" ดร.ฐิตินันท์กล่าว

Your browser doesn’t support HTML5

สัมภาษณ์พิเศษ 'ธนาธร' ภาค 2-แก้ รธน.ต้องเดินหน้า พร้อมอำลาชีวิตผจญภัย

ด้าน ดร.สุนัย ผาสุก แห่งองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch กล่าวกับสำนักข่าว BenarNews ว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็น 'หมัดน็อค' ต่อแนวคิดการเมืองแบบพหุนิยมในประเทศไทย ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีอีกห้าคนในสัปดาห์หน้า

ดร.สุนัย ให้ความเห็นว่า "พรรครัฐบาลคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากคำตัดสินนี้ และถือเป็นการยกเลิกความชอบธรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายล้านคนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่"

"เป็นคำตัดสินที่ละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิในการเข้าร่วมในกระบวนการทางประชาธิปไตย ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง" ดร.สุนัย กล่าวกับ BenarNews

Thanathorn Juangroongruangkit of Thailand's progressive Future Forward Party gestures to his supporters at a sudden unauthorised rally in Bangkok, Thailand December 14, 2019. REUTERS/Soe Zeya

ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังมีอายุไม่ถึงสองปี แต่ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามากเป็นอันดับสองของบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยมีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชื่นชอบในรัฐบาลทหารและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ดัชนีหุ้นของไทยร่วงลงไปหลังข่าวคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เปิดเผยออกมา ก่อนที่จะดีดตัวกลับมาในช่วงเย็นวันศุกร์

ขณะที่แฮชแท็กสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมอันดับหนึ่งในประเทศไทย ด้วยจำนวนการรีทวีตมากกว่าหนึ่งล้านครั้ง