ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ถูกบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รอบใหม่

ภาพที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 และเผยแพร่โดยสื่อ Jiji Press แสดงให้เห็นวาล์วแยกน้ำฉุกเฉินที่ติดตั้งไว้สำหรับส่วนกัเก็บน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่นที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี ค.ศ. 2011 เริ่มเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีชุดที่ 3 และได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลในวันพฤหัสบดี หลังเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่า น้ำที่ถูกปล่อยลงทะเลเมื่อ 2 ครั้งก่อนไม่มีปัญหาและเรียบร้อยดี ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

ผู้ดูแลโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะปล่อยน้ำ 7,800 ตันที่ได้รับการบำบัดแล้วกลับสู่ทะเลในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวเป็นจำนวนเดียวกับที่เคยปล่อยเมื่อ 2 ครั้งก่อน

บริษัท Tokyo Electric Power Company Holdings (TEPCO) กล่าวว่า คนงานของโรงงานได้เริ่มเปิดเครื่องปั๊มน้ำตัวแรกจากทั้งหมด 2 ตัว เพื่อเจือจางน้ำที่ถูกบำบัดแล้วด้วยน้ำทะเลจำนวนมหาศาล ก่อนจะค่อย ๆ ปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกผ่านอุโมงค์ใต้ทะเล

กระบวนการปล่อยน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วออกสู่ทะเลเริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคมและจะดำเนินการต่อไปเป็นเวลาอีกหลายทศวรรษจากนี้

รายงานข่าวระบุว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีอยู่ราว 1.33 ล้านตันที่ถูกกักเก็บไว้ในแทงค์จำนวน 1,000 แทงค์ ตั้งแต่หลังเกิดเหตุภัยพิบัติเมื่อกว่า 12 ปีก่อน

ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับการบำบัดแล้วและกำลังเข้าสู่กระบวนการเจือจางด้วยน้ำทะเล ก่อนจะไหลเข้าสู่อุโมงค์ใต้ทะเลเพื่อถูกปล่อยลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566

บริษัท TEPCO และรัฐบาลญี่ปุ่น แจ้งว่า การน้ำที่ปล่อยกลับคืนสู่ทะเลนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากแทงค์ทั้งหมดมีน้ำเกือบเต็มแล้ว จึงต้องมีการเริ่มแผนงานปล่อยน้ำโดยด่วน

อย่างไรก็ดี แผนการปล่อยน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วนั้นเป็นสิ่งที่หลายคนคัดค้านอย่างมากจากกลุ่มประมงและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เกาหลีใต้ ที่มีประชาชนออกมาร่วมประท้วงกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่ จีนออกคำสั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ บอกกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดีว่า ญี่ปุ่นนำเสนอคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่โปร่งใส่เกี่ยวกับกระบวนการปล่อยน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วออกมาตลอด และสมาชิกประชาคมโลกจำนวนมากก็แสดงความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว แต่ก็มี “บางประเทศที่ยังจำกัด(การนำเข้า)อาหารทะเลญี่ปุ่นโดยปราศจากคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อยู่”

  • ที่มา: เอพี