ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศ ตรวจสอบคุณภาพปลาจากท่าเรือใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เพื่อประเมินผลกระทบหลังการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้ว หลังภัยพิบัติแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011
รอยเตอร์รายงานว่า การศึกษาที่นำโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ชุดนี้ เป็นชุดแรกนับตั้งแต่ญี่ปุ่นประกาศปล่อยน้ำบำบัดจากพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากชาวประมงในพื้นที่ รวมไปถึงจีนที่ตัดสินใจงดน้ำเข้าสินค้าทะเลจากญี่ปุ่น
นักวิทยาศาสตร์จากจีน เกาหลีใต้ และแคนาดา ได้ตรวจตราตัวอย่างปลาที่เก็บมาสด ๆ จากท่าเรือที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไป 50 กิโลเมตร องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่า ตัวอย่างเหล่านี้จะถูกนำไปทดสอบในห้องทดลองของแต่ละประเทศต่อไป
พอล แมคกินิตี นักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลเรื่องการสำรวจกับ IAEA กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ร้องขอให้มีการวิจัยนี้ และหนึ่งในเหตุผลที่ก็คือเพื่อต้องการสร้างความมั่นใจในตัวข้อมูลที่ญี่ปุ่นกำลังจัดทำ
รอยเตอร์ระบุว่า ภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะทำให้น้ำที่ไหลผ่านเตาปฏิกรณ์ไฟฟ้าปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี การบำบัดน้ำปนเปื้อนที่มีปริมาณ 5 ล้านตัน กระทำโดยกรองสารหลายชนิดออกไป เหลือไว้เพียงสารทริเทียมที่กรองออกไปได้ยาก แต่ก็ถูกทำให้เจือจางจนอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
ทริเทียม ที่เป็นไอโซโทปชนิดหนึ่งของธาตุไฮโดรเจน ถูกจัดเป็นสารที่ไม่มีอันตราย เพราะไม่มีกำลังพอที่จะเจาะทะลุผิวหนังของมนุษย์ แต่ข้อมูลจากบทความใน Scientific American เมื่อปี 2014 ระบุว่า หากบริโภคทริเทียมเข้าไปในระดับที่มากกว่าน้ำที่บำบัดแล้วในฟุกุชิมะ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น