จุดเปลี่ยนสำคัญ 4 ประการ ดันโลกร้อนอย่างถาวร

FILE - The Greenland ice sheet is seen in southeastern Greenland, Aug. 3, 2017.

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา จะมีความพยายามในการจำกัดคำเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ให้เป็นเรื่องของกรอบเป้าหมายอุณหภูมิโลกเท่านั้น การศึกษาครั้งใหม่ชี้ว่า สิ่งที่โลกควรตระหนักถึงคือ จุดเปลี่ยนด้านสภาพภูมิอากาศ 4 ประการที่อาจจะปะทุขึ้นมาได้ในอนาคตพร้อม ๆ กับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ช่วงต้นเดือนกันยายน ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้พิจารณา 16 จุดเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สภาวะโลกร้อนจะคงอยู่อย่างถาวรและไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ และคำนวณหาเกณฑ์อุณหภูมิใหม่แบบคร่าว ๆ ที่จะกระตุ้นให้จุดเปลี่ยนเหล่านี้ทำงาน โดยพบว่า อุณหภูมิของโลกในปัจจุบันยังไม่น่าจะกระตุ้นให้จุดเปลี่ยนส่วนใหญ่เริ่มขยับตัวได้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า หากอุณหภูมิโลกปรับสูงขึ้นเพียงไม่กี่องศาจากปัจจุบัน จะมี 4 จุดเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที

ทั้งนี้ 4 จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเกิดขึ้น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม หรืออีกไม่มากจากระดับค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน คือ การยุบตัวอย่างช้า ๆ ของแผ่นน้ำแข็งทั้งในกรีนแลนด์และและในแอนตาร์กติกฝั่งตะวันตก การสูญเสียแนวปะการังเขตร้อนทั่วโลกจำนวนมากแบบฉับพลัน และการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ทางตอนเหนือ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลที่เคยถูกกักไว้อยู่ใต้พื้นน้ำแข็งออกมา

Methane bubbles up from the thawed permafrost at the bottom of the thermokarst lake through the ice at its surface. (Katey Walter Anthony/ University of Alaska Fairbanks)

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ว่า การดำเนินนโยบายและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกวันนี้น่าจะทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นราว 2.7 องศาเซลเซียส หรือ 4.9 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว

ทิม เลนตัน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Exeter ในประเทศอังกฤษ และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้ ให้ความเห็นว่า "มีโอกาสอย่างมาก ที่เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงจุดเปลี่ยนเหล่านี้ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องคิดต่อว่า จะปรับตัวให้รับมือผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างไร"

เงื่อนเวลาของผลกระทบ

เวลา คือ ปัจจัยสำคัญของจุดเปลี่ยนทั้งหลาย โดยมีความเกี่ยวพันกับคำถาม 2 ข้อ ซึ่งก็คือ ปรากฏการณ์เหล่านี้ถูกกระตุ้นให้แสดงตนเมื่อใดและจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายเมื่อใด ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นน้ำแข็งถล่มอาจถูกกระตุ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ผลกระทบที่จะตามมาซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้เวลานานนับศตวรรษกว่าจะแสดงผล ในขณะที่ ผลกระทบของการสูญเสียแนวปะการังนั้นอาจปรากฎชัดในเวลาเพียง 1 – 2 ทศวรรษเท่านั้น

เดวิด อาร์มสตรอง แมคเคย์ นักวิทยาศาสตร์ระบบโลก จากมหาวิทยาลัย Exeter และเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า“สิ่งนี้เป็นปัญหาสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป อย่างปรากฏการณ์แผ่นน้ำแข็งถล่มนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องมองกันในระยะเวลาเป็นพันปี โลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิมในยุคลูกหลานของเรา”

เลนตัน เปรียบเทียบคำว่าจุดเปลี่ยน เหมือนการนั่งเก้าอี้แล้วเอนไปข้างหลัง เมื่อเอนไปถึงจุดหนึ่งจะไม่สามารถควบคุมได้ เก้าอี้ที่นั่งอยู่จะหงายหลังตกลงไป โดยเขาชี้ว่า แนวคิดเรื่องจุดเปลี่ยนมีมานานกว่าทศวรรษแล้ว แต่การศึกษาล่าสุดพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเกณฑ์ของอุณหภูมิที่จะไปกระตุ้น รวมถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนและโลกใบนี้

เลนตัน กล่าวเสริมด้วยว่า ในช่วงราว 15 ปีที่ผ่านมา “ระดับความเสี่ยงในเรื่องนี้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

This picture taken March 7, 2022, shows the condition of coral on the Great Barrier Reef, off the coast of the Australian state of Queensland, following periods of bleaching.

โยฮัน ร็อคสตรอม ผู้อำนวยการสถาบัน Potsdam Institute for Climate Impact Research ในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้กล่าวว่า การสูญเสียแนวปะการังเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทันที

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การปรับเพิ่มของอุณหภูมิอีกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลให้จุดเปลี่ยนจำนวนมากมีโอกาสเกิดขึ้นได้ด้วย อย่างเช่น การชะลอตัวของการกระแสไหลเวียนในมหาสมุทรขั้วโลกเหนือ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะในยุโรป การอัตรธานของทะเลน้ำแข็งในอาร์กติก การถล่มของธารน้ำแข็งทั่วโลก รวมไปถึงป่าฝนแอมะซอนที่อาจจะไม่สามารถคงสภาพเดิมได้

ซีค เฮาส์ฟาเธอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ จากบริษัทเทคโนโลยี Stripe และ Berkeley Earth ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ ให้ทัศนะว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องศึกษาเรื่องจุดเปลี่ยนอย่างเหมาะสม พิจารณาจุดเปลี่ยนต่าง ๆ ด้วยมาตรวัดที่ดีกว่าในอดีต

ส่วน แคทเธอรีน มัค นักวิทยาศาสตร์ด้านความเสี่ยงภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยแห่งไมอามี (University of Miami) ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานี้ ตั้งคำถามว่า “เราได้เคยไตร่ตรองหรือไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมนุษย์ไปยุ่งกับระบบของโลกและระบบนิเวศมากมายดังว่า” และกล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่มีความหมายมากพอ ที่ทำให้คนเราต้องกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้แล้ว”

  • ที่มา: วีโอเอ