สื่อนอกเกาะติดผลวินิจฉัยคดี ‘พิธา’ ถือหุ้นไอทีวี

สีหน้าอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้นสื่อ ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย 24 ม.ค. 2024 (รอยเตอร์)

สื่อต่างประเทศหลายสำนักเกาะติดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎการเลือกตั้ง ในการถือหุ้นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อระหว่างที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เคลียร์ทางให้เขากลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสภาและอาจกลับมาเป็นผู้นำพรรคก้าวไกลอีกครั้งได้

เอพี รอยเตอร์ และเดอะนิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า นายพิธา นักการเมืองชื่อดัง ไม่ได้ละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง และยังสามารถรักษาเก้าอี้ ส.ส.ในสภาได้

สื่อ ดอยช์เวลล์ รายงานว่า นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า บริษัทไอทีวี “ไม่ได้ดำเนินกิจการสื่อ” ในช่วงที่นายพิธาสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และว่า “การถือหุ้นเหล่านี้ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย ... [ดังนั้น] สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลง”

นายพิธา วัย 43 ปี เผชิญกับความเสี่ยงในการถูกแบนทางการเมืองหรือแม้กระทั่งต้องโทษจำคุก ในคดีการถือหุ้นบริษัทสื่อไอทีวี ซึ่งไม่ได้ประกอบกิจการหรือรับรายได้จากธุรกิจแล้ว แต่ภายใต้กฎหมายของไทยถือว่าการมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อระหว่างดำรงตำแหน่งในสภาถือว่าผิดกฎหมาย

พรรคก้าวไกลของนายพิธายังยืนยืนว่าคดีดังกล่าวมีแรงจูงใจทางการเมืองโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ต้องการปิดตายเส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายพิธา หลังจากพรรคก้าวไกลกวาดที่นั่งในสภาได้มากที่สุด ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

อุปสรรคด่านแรก

คดีหุ้นสื่อของนายพิธา ถือเป็นอุปสรรคด่านแรกจาก 2 คดีความสำคัญในรอบสัปดาห์สำหรับพรรคก้าวไกล ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมในการกวาดเสียงข้างมากในสภาในการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน ด้วยการชูนโยบายการสลายการผูกขาดในภาคธุรกิจและสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันกว่าที่เป็นอยู่

โดยก่อนการวินิจฉัยคดีถือหุ้นไอทีวี นายพิธาได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าผลลัพธ์ในเชิงลบจากคดีนี้จะเป็นเพียงแค่การปรับเปลี่ยนเส้นทางที่ยาวไกลขึ้นสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย

หลังจากนี้ต้องติดตามต่อในวันที่ 31 มกราคม สำหรับอนาคตของพรรคก้าวไกล ในประเด็นแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดลงมติดังกล่าวในปลายเดือนนี้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคก้าวไกลก็มีความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรค

ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลไปรวมตัวใกล้กับศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธ แสดงความยินดีกับคำวินิจฉัยที่ออกมา ซึ่งยังผลให้นายพิธามีโอกาสกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้อีกครั้ง

ประเด็นกีดขวางด้านกฎหมาย

คณะกรรมการการเลือกตั้งเดินหน้าคดีความของนายพิธาไม่นานหลังจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ซึ่งฉายภาพของความไม่ได้รับความนิยมชมชอบของนายพลที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงเวลานั้น ที่ทำให้คนหนุ่มสาม คนเมือง และคนชนบท หรือแม้กระทั่งฐานเสียงของเขารู้สึกแปลกแยกและหันมาเลือกพรรคก้าวไกลแทน

หลังการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน นายพิธา กำลังจะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่ของไทย ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะระงับบทบาทหน้าที่ ส.ส. ของเขาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน ซึ่งเปิดทางให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดสรรของกลุ่มอนุรักษ์นิยมโหวตค้านนายพิธาให้ขึ้นเป็นนายกฯ และลงมติสนับสนุนแคนดิเดตที่ต้องการ

นักวิเคราะห์มองว่าพรรคก้าวไกลที่เรียกร้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยถือเป็นความท้าทายที่สุดสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่ถูกสั่งยุบพรรครวมทั้งตัดสิทธิ์การเมืองของบรรดาผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งกลายเป็นการปูทางให้นายพิธาก้าวขึ้นมาเป็นดาวการเมืองดวงใหม่ของไทย

ปีเตอร์ มัมฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียและอาเซียนจาก Eurasia Group ให้ทัศนะกับบลูมเบิร์กว่า “นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในอีกหลายคดีสำหรับพรรคก้าวไกล” และว่า “ทั้งพิธาและพรรคก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าพวกเรารอดพ้นจากวิกฤตเหล่านี้แล้วหรือยัง”

ภัณฑิล น่วมเจิม ส.ส.พรรคก้าวไกล บอกกับวีโอเอว่า “หากพรรคก้าวไกลถูกยุบในสัปดาห์หน้า ก็จะมีพรรคอีกพรรคเกิดขึ้น” และว่า “คุณอาจจะฆ่าคนหนึ่งได้ แต่ไม่อาจทำลายอุดมการณ์ได้ ผู้คนต่างสูญเสียความศรัทธาในระบบกฎหมายของเรามาครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้นหากพวกเขาต้องการขุดหลุมฝังตัวเองก็เชิญ”

  • ที่มา: วีโอเอ, รอยเตอร์, เอพี, เดอะนิวยอร์กไทม์ส, บลูมเบิร์ก