Your browser doesn’t support HTML5
คอลิน แอนเดอร์สัน (Colin Anderson) และ เครน โทล (Krijn Tol) ชายชาวอังกฤษและชาวดัตช์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เดินทางมาฉลองปีใหม่ที่ประเทศไทยทุกปี ในช่วงยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ทั้งสองคนรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในไทยเป็นอย่างดี คอลินบอกว่าเขาชอบอาหารไทยมาก ส่วนเครนบอกว่าอาหารไทยบางอย่างเผ็ดเกินไปสำหรับเขา แต่เสน่ห์อย่างอื่นของไทยทำให้เขากลับมาเที่ยวทุกปี
"ทุกคนเป็นมิตรและสุภาพมาก ผมชอบอากาศที่ไทยด้วย เป็นอากาศฤดูร้อนที่ทำให้ผมชอบไปชายหาด ผมชอบมาก" เครนให้สัมภาษณ์ผ่านวีดีโอคอล
แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่ทั้งคอลินและเครน งดเดินทางไปประเทศไทย ถึงแม้รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่
เงื่อนไขสำคัญของการเปิดประเทศ คือการที่นักท่องเที่ยวจะต้องเข้ารับการกักตัวในโรงแรม สถานที่สำหรับชาวต่างชาติ หรือ alternative state quarantine (ASQ ) เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คอลิน ตัดสินใจไม่เดินทางไปประเทศไทยในเดือนนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะซื้อตั๋วเครื่องบินเตรียมไว้แล้วก็ตาม
"ผมเตรียมจะจ่ายค่าโรงแรมเพื่อกักตัวเป็นเวลา 14 วันแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อมาคิดว่าผมจะต้องใช้เวลา 14 วันนั่งอยู่ในห้องเฉย ๆ กินอาหารที่โรงแรมจัดเตรียมมาให้ ผมก็ตัดสินใจได้ว่ามันเกินไป ถ้าผมมีเวลาไปอยู่ไทยสามถึงสี่เดือน ผมคงจะทำ แต่ผมมีวันหยุดแค่ห้าถึงหกสัปดาห์" คอลินกล่าวกับวีโอเอไทย
ส่วนเครน เพื่อนของคอลินที่มีวันหยุดเพียง 3 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ของไทยให้เหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
"ผมคิดว่าการกักตัวมีราคาแพงเกินไป เพราะเราต้องอยู่ในโรงแรม ซึ่งก็มีราคาแพง ประมาณ 2,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 60,000 บาท) ซึ่งทำให้ไม่น่าไปเที่ยว"
คอลิน และเครน กล่าวว่าพวกเขาชื่นชมการทำงานของไทยและเคารพกฎเกณฑ์ที่ทางการตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่เสียงของพวกเขา สะท้อนให้เห็นความท้าทายของรัฐบาลไทย ที่ต้องควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักมานานหลายเดือนจากมาตรการโควิด-19 ที่เข้มงวด
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย รายงานว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงตุลาคม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยลดลงเกือบ 80% จาก 32.6 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เหลือเพียง 6.7 ล้านคน และทำให้รายได้การท่องเที่ยวลดลงถึง 71% จากประมาณ 40,300 ล้านบาท เหลือเพียง 11,000 ล้านบาท
ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ตามการจัดลำดับขององค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 39.8 ล้านคน แต่ในปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เบตซี่ พาลเมอร์สตัน (Betsy Palmerston) นักท่องเที่ยวชาวแคนาดา ที่มาเที่ยวประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม และอยู่ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากที่เที่ยวบินของเธอถูกยกเลิกสามครั้งเพราะโควิด-19 กลับมองว่าการกักตัว 14 วัน เป็นความ “ชั่วร้ายที่จำเป็น” หรือ “necessary evil” ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
"ฉันคิดว่าการกักตัวอาจจะเป็นอุปสรรคของเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว แต่ก็เป็นอุปสรรคที่ได้ผล"
เบตซี่กล่าวว่าก่อนที่จะมีการระบาดรอบใหม่ในจังหวัดสมุทรสาครที่ลุกลามไปสู่จังหวัดอื่น ๆ เธอเห็นได้ว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีการตรวจพบเชื้อในช่วงกักตัวแทบทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่มีการกักตัว 14 วันก็อาจจะทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ไปสู่คนในประเทศได้
นี่เป็นปีที่ 4 แล้วที่หญิงชาวแคนาดาวัย 53 ปีผู้นี้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหลบลมหนาวของประเทศบ้านเกิด และเป็นปีแรกที่เธอแทบจะไม่เห็นนักท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญ ๆ ในกรุงเทพ
"ฉันไปเที่ยวภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) มา ข้างบนนั้นมีแค่ฉันกับนักท่องเที่ยวอีก 2 คนเท่านั้น มันเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็รู้สึกไม่ดีและเห็นใจคนที่ต้องหาเลี้ยงชีพ หรือพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ"
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม และหลายภาคส่วนได้เสนอให้ลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันให้เหลือ 10 วัน บ้างก็เสนอให้มีการทำ "ทราเวล บับเบิล" (travel bubble) หรือ "ระเบียงท่องเที่ยว" เปิดพรมแดนกับประเทศคู่พันธมิตรเพื่อให้ประชาชนทั้งสองชาติเดินทางเข้าออกโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งก่อนหน้านี้รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.รัชดา ธนาดิเรก บอกกับวีโอเอไทยว่า รัฐบาลได้ทบทวนมาตรการต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและส่งเสริมการท่องเที่ยว
“ภาคท่องเที่ยวเขาก็อยากให้เปิด แต่ประชาชนทั่วไปเขาก็มองอีกแบบหนึ่ง มันเป็นเรื่องการสื่อสาร จังหวะ และการทำความเข้าใจ ระยะเวลาด้วย บางทีเหมือนจะเข้าใจ ๆ แต่พอมีเหตุอะไรขึ้นมาก็ทำให้เกิดเป็นความกังวลอยู่” น.ส.รัชดา กล่าว
แต่หลังจากที่มีการระบาดระลอกใหม่ในเดือนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่าไทยยังจะต้องระมัดระวังเรื่องมาตรการผ่อนคลายให้คนต่างชาติเดินทางเข้าไทยต่อไป โดยให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันอย่าง ไมเคิล อาการ์ด (Michael Agard) กล่าวกับวีโอเอไทยว่า เขาจะกลับมาเที่ยวไทยอีกแน่นอน หลังจากที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว
ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 15 ปี ที่ไมเคิล และครอบครัวใหญ่ไม่ได้มาฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จังหวัดพังงาอย่างที่เคยทำเป็นประจำทุกปี ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เขารู้สึกเสียดายและผิดหวัง
"ผมคิดถึงครอบครัว เพราะปกติครอบครัวทางสวีเดนและอเมริกันของผมจะไปเจอกันที่ไทย ปกติเราก็เจอกันปีละครั้ง ผมยังคิดถึงอาหารไทยมาก ๆ คิดถึงการเดินไปตลาด ไปซื้อโรตีกิน และการเดินไปชายหาด"
ถึงอย่างนั้น ในปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายอย่างใหญ่หลวงที่เกิดจากโควิด-19 ปีนี้ ไมเคิลไม่ลืมที่จะเตือนสติตัวเองว่า หากการไม่ได้เดินทางไปเที่ยวประเทศไทยเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในปีนี้ ก็นับว่าเขาเป็นคนที่โชคดีมาก ๆ แล้ว