สื่อนอกรายงานคำตัดสินศาล รธน. เป็นไปตามคาด แต่ยังไม่รับประกันความมั่นคงของ ‘ประยุทธ์’ 

U.S.- ASEAN Special Summit, in Washington

สื่อต่างชาติรายงานว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียง 6-3 เมื่อวันศุกร์ ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เนื่องจากให้เริ่มนับวาระของเขาตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2560 นั้น ไม่เกินความคาดหมายเมื่อพิจารณาจากทิศทางตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศบางแห่ง เช่น เอพี และ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์มองว่า พลเอกประยุทธ์ยังคงเผชิญความไม่มั่นคงทางการเมืองต่อไป จากคะแนนนิยมที่ตกต่ำโดยเฉพาะจากการบริหารเศรษฐกิจและการจัดการโรคโควิด-19 รวมทั้งการที่เขาจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้เต็มที่ถึงปีพ.ศ. 2568 ทำให้เขาอาจไม่ถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองให้เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า เนื่องจากเขาจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ครบวาระ


สำนักข่าวเอพีระบุว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักมีคำตัดสินคดีการเมืองเป็นไปในทางเอื้อต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ​


เอพียังระบุด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ และกองทัพไทย วางบทบาทตนเป็น “ผู้พิทักษ์อย่างเข้มแข็ง” ต่ออำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทย ซึ่งพวกเขามองว่า สถาบันกษัตริย์เป็นเสาหลักที่สำคัญที่สุดของอำนาจฝ่ายนี้

เอพีรายงานต่อว่า หลังการตัดสินครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ยังคงเผชิญความท้าทายทางการเมืองในต้นปีหน้า เนื่องจากรัฐสภาจะมีอายุครบสี่ปีและจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่คะแนนความนิยมของเขาอยู่ในระดับต่ำ และพลเอกประยุทธ์ถูกวิจารณ์ว่าบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดและการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างไม่มีประสิทธิภาพพอ

ทั้งนี้ ผลสำรวจความเห็นโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เมื่อเดือนสิงหาคม ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 64% จากทั้งหมด 1,312 คน ต้องการให้เขาออกจากตำแหน่ง ในขณะที่อีก 33% ระบุว่า ศาลควรเป็นผู้ตัดสินการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์

Thai Constitutional Court rules in favor to PM Prayut Chan-o-cha infographic

เอพีอธิบายว่า การจำกัดการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไทยให้ไม่เกินแปดปี มีเพื่อพุ่งเป้าไปที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สายประชานิยมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อพ.ศ. 2549 แต่ยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองในไทยจนถึงปัจจุบัน การรัฐประหารครั้งต่อมาในปีพ.ศ. 2557 ยังยึดอำนาจจากรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ เพียงไม่นานหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งจากการมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ

เอพีสรุปว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมของไทย รวมทั้งกองทัพ กังวลว่าความนิยมในตัวทักษิณจะเป็นภัยต่ออิทธิพลของตน รวมถึงเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ โดยศาลทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และมักมีคำตัดสินไปในทางที่เป็นลบต่อทักษิณและ “ผู้ท้าทายอื่น ๆ” ต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ทางด้านรอยเตอร์รายงานว่า คำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้พลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ครองอำนาจนานที่สุดของไทย และเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น

ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์เผชิญความพยายามในการโค่นล้มเขา รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจสี่ครั้ง คดีความขัดแย้งของผลประโยชน์ และการประท้วงครั้งใหญ่ที่เรียกร้องให้เขาลาออกและให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อพ.ศ. 2563 ซึ่งถูกจุดชนวนจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่และห้ามกรรมการของพรรคดำรงตำแหน่งทางการเมือง 10 ปี

FILE - A protester writes pro-democracy messages on images of Thailand's Prime Minister Prayut Chan-ocha and top Thai generals during an anti-government rally in Bangkok, Feb. 20, 2021.

อย่างไรก็ตาม สื่อเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า แม้จะมีคำตัดสินในลักษณะดังกล่าว แต่พลเอกประยุทธ์ก็ยังคงอยู่ในที่นั่งทางการเมืองที่ไม่มั่นคง โดยนักวิเคราะห์มองว่า พรรคพลังประชารัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ อาจไม่เสนอชื่อเขาเป็นผู้ลงชิงตำแหน่งนายกฯ อีก เนื่องจากพลเอกประยุทธ์จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ เพราะนายกฯ ไทยมีวาระการดำรงตำแหน่งจำกัดอยู่ที่แปดปี

เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า แม้พลเอกประยุทธ์ไม่ได้รับความนิยมในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเสรีนิยม กลุ่มปัญญาชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่เขายังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้นิยมสถาบันกษัตริย์และกลุ่มชนชั้นสูงทางการเมือง โดยผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ มองว่า การเรียกร้องปฏิรูปประชาธิปไตยเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ของไทย

รศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ครองอำนาจมานานและยึดอำนาจมาด้วยวิธีที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้คนไทยมองการทำรัฐประหารในแง่ลบมากกว่าที่เคยเป็นมา

เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานโดยอ้างนักวิเคราะห์ว่า พลเอกประยุทธ์ไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่อไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ โดยเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น 1.6% เป็นอัตราเติบโตที่ช้าที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ในขณะที่ในปีนี้ ทางการไทยเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย จาก 2.7% เป็น 3.2% ซึ่งจะยังคงทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าที่สุดในภูมิภาค

รศ. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้มีนโยบายเศรษฐกิจที่ซับซ้อน และตอนนี้ประชาชนก็ตระหนักได้แล้ว

ทางด้านพลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวทางเพจเฟซบุ๊กของเขาในวันศุกร์ ไม่นานหลังมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า เขาแสดงความเคารพอย่างสูงต่อคำวินิจฉัยของศาล และตลอดช่วงหนึ่งเดือนที่เขาถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นโอกาสให้เขาได้พิจารณาและตระหนักมากขึ้นว่า เขาจะต้อง “ใช้เวลาอันมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐบาล” เพื่อผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อ “สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับบ้านเมือง และสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของเรา”

“วันนี้...เราเดินหน้ามาไกลและถูกทิศทางแล้วครับ เราต้องช่วยกันทำให้เสร็จครับ” พลเอกประยุทธ์กล่าวทิ้งท้ายในโพสเฟซบุ๊กที่ปิดการแสดงความเห็นจากสาธารณชน พร้อมระบุว่า จะมอบหน้าที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงด้านการเมืองต่อไป

  • ที่มา: เอพี, รอยเตอร์, เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ และเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha