สื่อต่างประเทศเกาะติดข่าวในวันพุธที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างที่ศาลจะใช้เวลาพิจารณาว่าระยะเวลาที่พลเอกประยุทธ์สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้ ตามกฎหมาย
สำนักข่าวเอพี รายงานว่าพลเอกประยุทธ์น่าจะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯเป็นเวลาชั่วคราวเท่านั้น โดยเอพีระบุว่า ที่ผ่านมา โดยทั่วไปศาลรัฐธรรมนูญตัดสินกรณีทางการเมืองหลายกรณีไปในทางเดียวกับจุดยืนของรัฐบาล
แต่สำนักข่าวเเห่งนี้ระบุเช่นกันว่า หากในที่สุดเเล้ว ศาลให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ต่อไป คำตัดสินดังกล่าวก็อาจจะทำให้การประท้วงต่อต้านรัฐบาลมีพลังมากยิ่งขึ้น และอาจเปิดรอยเเยกที่ร้าวลึกอีกครั้งในการเมืองไทย ซึ่งเคยเกิดความปั่นป่วนมาหลายครั้ง ตั้งเเต่กองทัพทำรัฐประหารโค่นอำนาจอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2549
เอพีรายงานว่า พลเอกประยุทธ์จะยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมต่อไป โดยอ้างคำพูดของโฆษกรัฐบาลอนุชา บูรพชัยศรี
ในคำสั่งศาลวันพุธ ตุลาการลงมติ 5 ต่อ 4 เรื่องการระงับการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และให้พลเอกประยุทธ์แสดงเหตุผลของฝ่ายตนภายใน 15 วัน
นอกจากนี้เอพีรายงานว่า กลุ่มชนชั้นปกครองของไทยสายอนุรักษ์นิยมที่มีอยู่มานาน ซึ่งรวมถึงกองทัพ เคยรู้สึกว่าความนิยมในตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นปัจจัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์และอิทธิพลของชนชั้นปกครอง
เอพีและรอยเตอร์รายงานเช่นเดียวกันว่า ยังไม่เป็นที่ทราบเเน่ชัดว่าศาลจะตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานเกินกว่าวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ได้หรือไม่
ในรายงานของรอยเตอร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชลน่าน ศรีเเก้วแกนนำฝ่ายค้านในสภา ซึ่งเป็นพรรคที่ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ กล่าวแต่เพียงว่า ในการตัดสินใจของศาลครั้งนี้ ศาลได้สะท้อนความกังวลของพรรค โดยส.ส.ชลน่าน ไม่เเสดงความเห็นเพิ่มเติม
ส่วนสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งเน้นประเด็นเศรษฐกิจ รายงานโดยอ้างนักวิเคราะห์ว่าคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ครั้งนี้อาจสร้างความกังวลต่อนักลงทุนบ้าง เเม้ว่าอาจไม่ค่อยมีผลกรทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเมืองอาจชะลอการตัดสินใจมาลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ที่มีเเผนย้ายการผลิตมาที่ไทย และอาจสร้างข้อเสียเปรียบให้ไทยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม ตามรายงานของบลูมเบิร์ก
รายงานชิ้นนี้ยังสัมภาษณ์ ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่กล่าวว่า หากดูปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่มีอะไรที่ต่างจากเดิม เขาบอกด้วยว่า มุมมองหลักของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ต่อประเทศไทยในตอนนี้คือ ไทยมีโอกาสขาขึ้นมากกว่าขาลง เพราะการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว และความเสี่ยงทางการเมืองยังอยู่ในระดับต่ำ
- ที่มา: เอพี รอยเตอร์ บลูมเบิร์ก