ลุ้นฉ่ำ! หน่วยงานสหรัฐฯ คาดแสงเหนือโชว์รอบ 2 คืนวันอาทิตย์นี้

หน่วยงานด้านบรรยากาศของสหรัฐฯ ระบุว่า คืนวันอาทิตย์นี้อาจเกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ หรือ Northern lights ในระดับที่บางเบากว่าเมื่อวันเสาร์ แต่ก็อาจสามารถมองเห็นได้ในหลายรัฐทั่วอเมริกา

สำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) กล่าวว่า ปรากฏการณ์พายุสุริยะ หรือ solar storm จะส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลกจนถึงคืนวันอาทิตย์นี้ นั่นหมายความว่าประชาชนในหลายประเทศของทวีปยุโรปและหลายรัฐของอเมริกายังมีโอกาสที่จะเห็นแสงเหนือได้อีกครั้ง แต่อาจเกิดขึ้นในระดับที่ไม่เข้มข้นเหมือนเมื่อคืนก่อน

แสงเหนือปรากฏที่รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ

ตามปกติแล้ว แสงเหนือ หรือ Northern lights มักมองเห็นได้ที่รัฐอะแลสกา ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ รวมทั้งภาคเหนือของแคนาดาและแถบสแกนดิเนเวีย แต่วงจรสุริยะที่วนเวียนมาทุก 11 ปีและจะบรรจบครบรอบอีกครั้งในปี 2024 ทำให้ปรากฏการณ์แสงเหนือนี้สามารถมองเห็นได้ในหลายประเทศที่อยู่ต่ำลงมาจากขั้วโลกเหนือ

เมื่อคืนวันศุกร์และเสาร์ ผู้คนทั่วโลกต่างพบเห็นแสงเหนือในระดับเข้มข้นแม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นในเยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน และจีน รวมทั้งในรัฐฟลอริดาทางภาคใต้ของสหรัฐฯ

แสงเหนือที่อาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2024

และแม้มีความกังวลว่าปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลต่อเครือข่ายไฟฟ้า การสื่อสารและระบบบอกตำแหน่งของดาวเทียม แต่ไม่พบว่ามีปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นรุนแรงแต่อย่างใด

เมื่อวันศุกร์ NOAA ออกประกาศเตือนว่า พายุสุริยะระดับรุนแรงซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จะเดินทางมาถึงโลกในบ่ายวันศุกร์ และอาจจะส่งผลกระทบกินเวลาไปจนถึงช่วงเวลาสัปดาห์หน้า

NOAA เตือนเจ้าหน้าที่ในโรงผลิตไฟฟ้าและอากาศยานในวงโคจรโลก รวมถึงองค์การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะมาจากดวงอาทิตย์

แสงเหนือที่แคนาดา วันที่ 10 พ.ค. 2024

ร็อบ สตีนเบิร์ก นักวิทยาศาสตร์จาก NOAA กล่าวว่า “นั่นคือของขวัญจากสภาพอากาศของอวกาศ” โดยเขาและทีมงานกล่าวด้วยว่า การถ่ายภาพท้องฟ้าด้วยมือถือน่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้มองเห็นแสงเหนือ หรือออโรร่า ได้ดีที่สุด

ทั้งนี้ โลกเคยพบกับปรากฏการณ์พายุสุริยะครั้งรุนแรงที่สุดเมื่อปี 1859 ซึ่งในครั้งนั้นผู้คนสามารถมองเห็นแสงเหนือได้ไกลถึงอเมริกากลางซึ่งอยู่แถบเส้นศูนย์สูตร หรือแม้แต่รัฐฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก

  • ที่มา: เอพี