ประชาชนในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ อาจมีโอกาสเห็นสิ่งที่คล้ายกับแสงเหนือสีเขียวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เนื่องจากอิทธิพลจากพายุสุริยะระดับรุนแรงผิดปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลถึงดาวเทียม ระบบสื่อสารและระบบนำทาง ตามการรายงานของเอพี
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ออกประกาศเตือนว่า พายุสุริยะระดับรุนแรง ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จะเดินทางมาถึงโลกในบ่ายวันศุกร์นี้ และอาจจะส่งผลกระทบกินเวลาไปจนถึงช่วงเวลาสัปดาห์หน้า
NOAA เตือนเจ้าหน้าที่ในโรงผลิตไฟฟ้าและอากาศยานในวงโคจรโลก รวมถึงองค์การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะมาจากดวงอาทิตย์
สำหรับแนวทางของประชากรส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ ร็อบ สตีนเบิร์ก นักวิทยาศาสตร์จาก NOAA ระบุว่า “ไม่จำเป็นจะต้องทำอะไร”
NOAA ระบุว่าพายุสุริยะอาจทำให้เกิดแสงเหนือลงมาถึงพื้นที่รัฐแอละแบมา และตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาสภาพการณ์ และเน้นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจจะเป็นแสงสีเขียวที่กระจัดกระจายมากกว่าม่านแสงเหนืออย่างที่เห็นทั่วไป
สตีนเบิร์กกล่าวว่า “นั่นคือของขวัญจากสภาพอากาศของอวกาศ” โดยเขาและทีมงานกล่าวด้วยว่า การถ่ายภาพท้องฟ้าด้วยมือถือน่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้มองเห็นแสงเหนือ หรือออโรร่า ได้ดีที่สุด
ชอน ดาห์ล นักพยากรณ์อากาศอวกาศของ NOAA กล่าวว่า พายุสุริยะครั้งนี้มีระดับความรุนแรงที่ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้กับสายไฟฟ้าแรงสูง แต่สายไฟฟ้าที่ใช้กันตามบ้านเรือนจะไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นก็อาจมีผลกระทบกับดาวเทียมในวงโคจรโลก ซึ่งอาจมีผลต่อการใช้งานระบบนำทางและสื่อสารบนโลก
พายุสุริยะที่เคยเกิดขึ้นในปี 2003 ส่งผลให้ไฟดับในสวีเดน และสร้างความเสียหายให้หม้อแปลงไฟฟ้าในแอฟริกาใต้
NOAA ระบุว่าพายุจากดวงอาทิตย์ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเปลวสุริยะที่ปะทุขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรดาวฤกษ์ดวงนี้เมื่อถึงจุดสูงสุดของวงรอบ 11 ปี
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA กล่าวว่าพายุสุริยะจะไม่มีผลกระทบต่อนักบินอวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ แต่ระดับรังสีที่เพิ่มขึ้นอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อมนุษย์บนนั้น ซึ่งต้องไปหลบภัยในจุดที่มีการป้องกันสูง
ทั้งนี้ พายุสุริยะอาจสร้างความเสียหายให้ดาวเทียมวิทยาศาสตร์ ซึ่งทาง NASA จะต้องปิดอุปกรณ์ที่เปราะบาง แต่อากาศยานที่ศึกษาดวงอาทิตย์จะคอยจับตาดูปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นครั้งนี้
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น