อาหารฟาสต์ฟูดบวกการไม่สนใจออกกำลังกายส่งผลถึงโรคความจำเสื่อมได้

A combination hamburger served in Pyongyang, North Korea, June 12, 2018. A new Australian study links fast food to dementia.

นักวิจัยเตือนการไม่สนใจออกกำลังกายจนล่วงวัยกลางคนอาจสายเกินไปที่จะทวงความจำกลับคืน

Your browser doesn’t support HTML5

Fast Food Dementia

การศึกษาของมหาวิทยาลัย Australian National University (ANU) ในออสเตรเลีย ที่วิเคราะห์ผลการวิจัยระหว่างประเทศราว 200 ชิ้นโดยอาศัยกลุ่มตัวอย่างกว่า 7,000 คน ซึ่งเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Frontier in Neuroendocrinology ระบุความเกี่ยวพันระหว่างการทานอาหารแคลอรี่สูงประเภทฟาสต์ฟูด กับโรคทางสมอง โดยเฉพาะโรคความจำเสื่อม

โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนในยุคนี้ทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน จากชีวิตที่รีบเร่งและการมีอาหารทางเลือกที่เร็วและสะดวก ตัวอย่างเช่น อาหารฟาสต์ฟูดหนึ่งมื้อซึ่งประกอบด้วยเบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด กับเครื่องดื่มนั้น จะมีแคลอรี่ประมาณ 650 หน่วย ซึ่งเท่ากับราวหนึ่งในสี่ของความต้องการแคลอรี่สำหรับผู้ชายในแต่ละวัน และเท่ากับประมาณหนึ่งในสามของความต้องการแคลอรี่สำหรับผู้หญิงในแต่ละวัน

ศาสตราจารย์ Nicolas Cherbuin ของมหาวิทยาลัย ANU อธิบายว่าอาหารที่มีแคลอรี่สูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด มีความเกี่ยวพันกับโรคอ้วนและปัญหาเบาหวานประเภทสอง และถ้าประกอบกับการขาดกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายหรือการออกกำลังกายด้วยแล้ว ก็จะทำให้เกิดภาวะอักเสบในร่างกาย หรือ inflammation ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการทำงานของเซลล์สมองและปัญหาความจำเสื่อมเมื่อเราอายุมากขึ้นได้

นักวิจัยเตือนว่า ถึงแม้อาการความจำเสื่อมส่วนใหญ่มักจะแสดงให้เห็นในช่วงเลยวัยกลางคนไปแล้วก็ตาม กระบวนการซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ประสาทและทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมหรือสมองฝ่อนี้จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนได้เมื่อย่างเข้าวัยกลางคน แต่เรื่องนี้ก็อาจป้องกันได้หากเราเลือกทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และสนใจออกกำลังกายในเชิงป้องกันตั้งแต่ยังเยาว์วัย

ขณะนี้มีผู้คนราวหนึ่งในสามของโลกมีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน และมีราว 50 ล้านคนซึ่งเป็นโรคความจำเสื่อม ดังนั้นคำแนะนำอย่างชัดเจนของนักวิจัยจากการศึกษาเรื่องนี้คือ อย่าละเลยเรื่องความสำคัญและความจำเป็นของการดูแลสุขภาพตัวเอง การเลือกทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และสนใจออกกำลังกายตั้งแต่ในช่วงวัยหนุ่มสาว เพราะถ้ารอให้เวลาล่วงเลยไปถึงช่วงวัยกลางคนหรือวัยทองแล้วก็อาจจะสายเกินไป

องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำด้วยว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายประเภท Cardio ซึ่งทำให้หัวใจเต้นแรง การไม่สูบบุหรี่ และละเว้นการบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป การควบคุมน้ำหนักตัว การทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การรักษาระดับความดันโลหิตและระดับโคเลสเตอรอลให้เหมาะสม รวมทั้งการได้นอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพและเพียงพอ ล้วนเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงของโรคความจำเสื่อมได้