ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้สูงวัยอเมริกันเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลังบาดเจ็บจากการลื่นล้ม


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:37 0:00

ในสหรัฐฯ จำนวนคนที่เสียชีวิตจากการลื่นล้มที่อายุ 75 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นสามเท่าตัวตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2543 – 2559 โดยเพิ่มจาก 8613 เป็น 25189 คน เเละทีมนักวิจัยพบว่าแนวโน้มเดียวกันนี้พบในยุโรปด้วย

การศึกษานี้จัดทำโดยทีมนักวิจัยในเนเธอร์เเลนด์ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์วารสาร Journal of the American Medical Association ระบุว่า ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นตั้งเเต่ 19 ปีที่แล้ว จำนวนผู้สูงวัยที่เสียชีวิตหลังการลื่นล้มเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวทั้งเพศชายเเละเพศหญิง

Marco Pahor ผู้อำนวยการสถาบันการสูงวัย มหาวิทยาลัยแห่งฟลอริด้า กล่าวว่า ราว 1 ใน 3 ของคนที่ลื่นล้มทุกปีเป็นคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

เขาเขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับหัวข้อนี้ให้กับวารสารที่ตีพิมพ์ผลการศึกษาว่า การลื่นล้มมีผลกระทบต่อผู้สูงวัยเพราะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ผู้สูงวัยที่ลื่นล้มนอกจากจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บรุนเเรงที่ศีรษะเเละอาการเลือดคั่งภายในเเล้ว การแตกหักของกระดูกสะโพก หัวเข่าหรือข้อเท้า ยังเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ ตามมา อาทิ ความสามารถในการพึ่งพาตนเองลดลง ต้องเข้ารับกายภาพบำบัดเเละมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

อตูล กาวันดี แพทย์เเละผู้เขียนหนังสือเรื่อง Being Mortal กล่าวกับเอเอฟพีว่า คน 1 ใน 5 ที่ลื่นล้มเเละกระดูกสะโพกหักจะไม่สามารถเดินได้อีก

ในสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่บาดเจ็บจากการลื่นล้มจัดเป็นหนึ่งในค่ารักษาพยาบาลที่แพงที่สุด

ในเนเธอร์แลนด์ สเปน ออสเตรเลีย เเละแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการศึกษาเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน พบว่าแนวโน้มของการเสียชีวิตของผู้สูงวัยหลังการลื่นล้มเพิ่มขึ้นคล้ายๆ กันในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา ส่วนในฝรั่งเศส ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาจริงจังว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหานี้ เเต่
บรรดาแพทย์ด้านสุขภาพผู้สูงวัยชี้ว่า อาจเป็นไปได้ที่ผู้สูงวัยในปัจจุบันมีวิถีชีวิตที่ไม่อยู่นิ่งเฉยเหมือนในอดีต และปัญหาโรคอ้วนที่เพิ่มความรุนเเรงขึ้นก็อาจมีบทบาทในเรื่องนี้เพราะมีผลต่อความเเข็งเเรงของกล้ามเนื้อ

เเละที่สำคัญที่สุด เเม้ว่ายารักษาโรคสมัยใหม่จะมีประสิทธิภาพในการบำบัดโรคเรื้อรังหลายโรค เเต่กลับละเลยต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

อลิซาเบธ เบิร์นส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพที่สำนักงานป้องกันเเละควบคุมโรคซึ่งมีส่วนร่วมในการเขียนรายงานผลการศึกษานี้ กล่าวว่า ยารักษาโรคบางอย่างเพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นล้ม โดยเฉพาะยาที่อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย อาทิ กระทบต่อการมองเห็น เกิดความสับสนเเละง่วงนอน

จอร์จ เทลเลอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพผู้สูงวัยแห่งโรงพยาบาลเมดสตาร์ วอชิงตัน กล่าวเสริมว่า วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้มคือการสั่งให้ผู้ป่วยเลิกรับประทานยาที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า หากผู้ป่วยรับประทานยาตามใบสั่งแพทย์วันละ 4 ถึง 5 ชนิด ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนเเละสูญเสียความสมดุลเพิ่มขึ้นอย่างมาก

มีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดย เทเรสซ่า เลียว แอมบรอส ผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยแห่งบริติช โคลัมเบีย พบว่าการออกกำลังกายมีส่วนในการลดปัญหาการหกล้มหรือลื่นล้มของผู้สูงวัย

การศึกษานี้ได้ทดสอบดูประสิทธิภาพของการออกกำลังกายที่เรียกว่า Otago Exercise ที่ผู้ป่วยฝึกที่บ้านภายใต้การดูแลโดยนักกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นการสร้างความเเข็งเเรงของหัวเข่า สะโพกเเละข้อเท้า ตลอดจนฝึกสมดุลของการทรงตัว เช่นการเดินถอยหลังเเละการยืนกระต่ายขาเดียว

หลังการฝึกการออกกำลังกายที่นานหกเดือน นักวิจัยพบว่าผู้เข้าฝึกมีอัตราการลื่นล้มน้อยกว่ากลุ่มควบคุม เเต่ทีมนักวิจัยเตือนว่าเพื่อยืนยันผลการทดลองนี้จะต้องมีการศึกษาทดลองในคนอีกหลายครั้งเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม เทลเลอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพผู้สูงวัยที่โรงพยาบาลเมดสตาร์ วอชิงตันในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า การออกกำลังมีผลดีต่อการลดการหกล้มหรือลื่นล้ม อาจเป็นเพราะว่าช่วยให้ผู้สูงวัยรู้สึกดีเเละรักษาสมดุลของร่างกายได้ดีขึ้นขณะเคลื่อนไหว

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG