ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา มีผู้นำภาพถ่ายที่มีกลุ่มควันไฟดำพุ่งขึ้นมาจากบริเวณข้าง ๆ อาคารทรง 5 เหลี่ยมที่คุ้นหน้าคุ้นตาคนทั่วโลกออกมาเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมข้อความกล่าวอ้างว่า เกิดเหตุระเบิดที่ใกล้ ๆ เพนตากอน อาคารที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ
หลังมีการเผยแพร่ออกมาไม่นาน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ขานรับข่าวที่ไม่ได้มีการตรวจสอบนี้แต่สื่อหลายแห่งนอกสหรัฐฯ เร่งนำไปรายงานต่อแล้ว จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องรีบออกมาแถลงว่า ไม่ได้มีการระเบิดใด ๆ ดังในบริเวณที่ภาพและข่าวรายงานออกไป พร้อมยืนยันว่า ภาพที่มีการแชร์ออกไปนั้นเป็นภาพปลอมด้วย ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภาพดังกล่าวเป็นฝีมือการปลอมโดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และความนิยมของการใช้เทคโนโลยีนี้
สรุปแล้ว มีการระเบิดใกล้เพนตากอนดังในภาพที่มีการเผยแพร่ออกมาจริงหรือไม่
เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในเขตอาร์ลิงตันเคาน์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย เปิดเผยว่า ภาพเจ้าปัญหาที่ว่านั้นไม่ใช่ภาพจากสถานที่จริง และไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ติดกับกรุงวอชิงตันโดยมีเพียงแม่น้ำโพโตแมคไหล่คั่นตรงกลางเท่านั้น
ถึงกระนั้น ทั้งภาพและข้อความที่มาด้วยกันก็ถูกส่งต่อไปทั่วโดยสื่อต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง สำนักข่าว RT ของรัฐบาลรัสเซีย ที่เคยใช้ชื่อว่า Russia Today และข่าว ๆ นี้ยังถูกนำไปแชร์อย่างกว้างขวางในแวดวงการลงทุน โดยมีบัญชีทวิตเตอร์บลูที่มีเครื่องหมาย ‘ถูก’ สีฟ้ายืนยันตัวตนบัญชีหนึ่งซึ่งอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ภาพและข่าวนี้มาจากสื่อ บลูมเบิร์ก นิวส์ (Bloomberg News)
ในส่วนของการรายงานโดยสื่อ RT นั้น สำนักข่าวรัสเซียแห่งนี้ทวีตข้อความผ่านบัญชีที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคนว่า “มีรายงานเกี่ยวกับเหตุระเบิดใกล้ ๆ กับเพนตากอนในกรุงวอชิงตัน” ก่อนที่จะลบทวีตดังกล่าวออกไปภายหลัง
ต่อมา RT ยืนยันว่า ได้ทำการลบทวีตข้อความนั้นไปแล้ว และยังได้ “รายงานข้อมูลทางการจากเพนตากอนเกี่ยวกับประเด็นนี้แล้ว” หลังตรวจสอบพบว่า ข่าวที่ออกไปก่อนหน้าไม่ถูกต้อง
สำนักข่าว RT ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาในวันอังคารว่า “จากการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวที่มีการรายงานอย่างรวดเร็ว เราขอประกาศให้สาธารณะรับทราบเกี่ยวกับรายงานที่มีการเผยแพร่และทันทีที่มีการตรวจสอบที่มาจนแน่ใจแล้ว เราจึงดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขการรายงานข่าว”
อย่างไรก็ตาม เวลาที่มีการเผยแพร่ภาพปลอมนี้ออกมาก่อนเกิดก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเปิดทำการเวลา 9.30 น. ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นคลื่นกระทบตลาดการลงทุนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ดัชนี้ S&P 500 อ่อนตัวลงเล็กน้อยทันทีที่ 0.3% ขณะที่ เว็บไซต์การลงทุนและบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนพากันแชร์ข่าวปลอมนี้ซ้ำ ๆ กันอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ทิศทางการลงทุนในหมวดอื่น ๆ ก็ขยับไปในทิศทางที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีกระแสความตื่นกลัวปกคลุมตลาด อย่างเช่น ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และราคาทองคำที่ปรับขึ้นช่วงระยะเวลาหนึ่งเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนนั้นก็เร่งหาที่ ๆ ปลอดภัยเพื่อนำเงินของตนไปพักไว้อยู่
แต่ภาพที่มีการส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วทำให้หน่วยดับเพลิงอาร์ลิงตันเคาน์ตี้ต้องออกมาประกาศแก้ข่าวผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์โดยด่วน ด้วยการส่งข้อความที่ระบุว่า “@PFDAOfficial (หน่วยปกป้องกองกำลังเพนตากอน – Pentagon Force Protection Agency) และ ACFD (หน่วยดับเพลิงอาร์ลิงตันเคาน์ตี้ – Arlington County Fire Department) ตระหนักดีเกี่ยวกับรายงานทางสื่อสังคมที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเหตุระเบิดใกล้เพนตากอน ... ไม่มีการระเบิดหรือเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นที่หรือใกล้กับเขตสงวนเพนตากอน และไม่มีภัยอันตรายหรือพิษภัยต่อสาธารณชน”
ร้อยเอก เนท ไฮเนอร์ โฆษกหน่วยดับเพลิง ยืนยันว่า ทวีตที่ออกมาและอ้างถึงข้างต้นเป็นของแท้ แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติม และแนะให้ผู้สื่อข่าวไปติดต่อสำนักงานตำรวจเพนตากอน แต่เมื่อติดต่อไป ก็ไม่ได้รับการตอบกลับไม่ว่าจะทางอีเมลหรือโทรศัพท์
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเท็จให้ความเห็นว่า ภาพปลอมนี้น่าจะเป็นฝีมือของโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความสามารถในการสร้างภาพให้คล้ายจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็มักมีจุดบกพร่อง และมักมีผู้นำมาเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลายเมื่อเร็ว ๆ นี้
เฮนี ฟาริด ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ทางดิจิทัล กล่าวว่า ความไม่สอดคล้องกันของตัวอาคาร รั้วและสภาพแวดล้อมโดยรอบ คือ ความไม่สมบูรณ์แบบที่มักพบได้บ่อยในภาพที่สร้างด้วย AI พร้อมระบุว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง [ในภาพดังกล่าว] หญ้าและส่วนที่เป็นคอนกรีตเลือนหายเข้าหากัน ตัวรั้วก็ดูไม่ปกติ มีเสาสีดำแปลก ๆ โผล่ขึ้นมา 1 ต้นที่ด้านหน้าของทางเดินเท้า แต่ก็ดูเป็นส่วนหนึ่งของรั้วด้วย” และว่า “หน้าต่างของอาคารก็ดูไม่สอดคล้องกันกับภาพของเพนตากอนที่สามารถหาดูได้ทางออนไลน์”
ส่วนชีรัก ชาห์ ผู้อำนวยการร่วมของ Center for Responsibility in AI Systems & Experiences จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ซีแอตเติล เตือนว่า การตรวจหาจุดปลอม ๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่หาได้ง่าย ๆ เสมอ และแนะว่า สังคมนั้นจะต้องเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับ “การกระจายปัญหาไปยังกลุ่มคนเพื่อหาคำตอบและวิธีแก้ปัญหา (crowdsourcing) และการเฝ้าระวังในชุมชนเพื่อคัดกรองข้อมูลแย่ ๆ และสรุปหาความจริงให้ได้” ขณะที่ เทคโนโลยี AI ยังคงพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอยู่
ชาห์ ระบุในอีเมล์ที่ส่งมายังผู้สื่อข่าวด้วยว่า “การพึ่งพาเครื่องมือตรวจจับหรือโพสต์สื่อสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป” ด้วย
อย่างไรก็ดี อดัม เคเบสซิ บรรณาธิการใหญ่ของ The Kobeissi Letter ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อภาคอุตสาหกรรม เตือนว่า ขณะที่ ตลาดมีพฤติกรรมตอบรับต่อข่าวเด่นที่จับความสนใจประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ข่าวเท็จอาจสร้างความเสียหายอย่างมากถ้ามีสื่อต่าง ๆ นำไปแชร์ แม้ว่าข่าวนั้นอาจจะดูแล้วไม่น่าเชื่อถือเท่าใด
เคเบสซิ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเคลื่อนไหวหลายครั้งในแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading - HFT) และการลงทุนที่ใช้หลักคณิตศาสตร์สถิติและข้อมูลต่างๆในการทดสอบและยืนยันสมมุติฐานของกลยุทธ์การลงทุน (algorithmic trading) ซึ่งมีการติดตามหัวข้อข่าว นำมาสังเคราะห์ และแตกย่อยมาใช้ในการซื้อขาย[หลักทรัพย์] ในแบบเสี้ยววินาที (millisecond) … ง่าย ๆ ก็คือ เหมือนว่า คุณเหนี่ยวไก[ปืน] ทุกครั้งที่มีหัวข้อข่าวออกมา”
- ที่มา: เอพี