ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่มีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ สถานีโทรทัศน์ Channel 1 ซึ่งเป็นสื่อทีวีหลักของรัฐบาลรัสเซีย รายงานว่า การติดตามการลงคะแนนเลือกตั้งของ เอ็นบีซี นิวส์ (NBC News) เปิดเผยให้เห็นถึงกรณีเหตุทุจริตในการเลือกตั้งกึ่งสมัยของสหรัฐฯ ในปีนี้
ในเรื่องนี้ ฟรานซิส สการ์ ผู้สื่อข่าวของ BBC Monitoring โพสต์คลิปจากสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของตน ขณะที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า:
“เอ็นบีซี นิวส์ รายงานว่า ประชาชน 42 ล้านคนได้เข้าร่วมในการลงคะแนนเสียงล่วงหน้าแล้ว โดยส่วนหนึ่งทำการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ด้วยการจับซองจดหมายเล็ก ๆ ใส่เข้าไปในตู้ไปรษณีย์ และผลของการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์นั้น ไม่น่าจะเป็นจริงไปได้ ... เดโมแครตเป็นผู้ชนะ เดโมแครตได้รับ 45% รีพับลิกันได้รับ 35% และอีก 20% เป็นของฝ่ายอื่น”
ผู้ดำเนินรายการของ Channel 1 ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า:
“ดูเหมือนว่า โจเซฟ ไบเดน น่าจะจัดการบีบบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ให้ตัวเองมาแทนที่ประธานาธิบดีไลบิเรีย เจ้าของตำแหน่งผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีการทุจริตมากที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 1927 (ซึ่งมี) ผู้ลงคะแนน 234,000 เสียงให้เขา ขณะที่ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงทะเบียนทั่วประเทศอยู่เพียง 15,000 คนเท่านั้น ... รับไปเลย โจเซฟ ไบเดน!”
คำกล่าวที่ว่า พรรคเดโมแครตเป็นผู้ชนะนั้นเป็นความเท็จ เพราะรายงานนี้บิดเบือนตัวเลขที่ เอ็นบีซี รายงานออกมาว่าเป็นผลการเลือกตั้ง โดยในความเป็นจริงนั้น รายงานดังกล่าวไม่ใช่ผลการลงคะแนนเลย และไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ระบุว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางในการลงคะแนนเสียงทั่วทั้ง 50 รัฐและกรุงวอชิงตันด้วย
ข้อมูลของ เอ็นบีซี แสดงให้เพียงเรื่องความผูกพันกับพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงที่ออกมาลงคะแนนล่วงหน้า โดยเว็บไซต์ของสถานีข่าวนี้ใช้ความระมัดระวังในการใช้ภาษาโดยระบุว่า รายงานนี้นำเสนอผลการนับคะแนนบางส่วนเท่านั้น ซึ่งไม่ได้นับรวมประชาชนอีกหลายสิบล้านคนที่ออกมาใช้สิทธิ์ด้วยตนเองตามหน่วยเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวเลขที่ เอ็นบีซี นิวส์ รายงานออกมานั้นไม่ได้หมายความว่า พรรคเดโมแครตเป็นผู้ชนะ และแสดงให้เห็นเพียงว่า ผู้ที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตคือ กลุ่มที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น และไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งรายใดได้เสียงสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นข้อมูลความลับ
และอีกครั้ง นี่คือตัวอย่างของกรณีที่มีการรายงานออกมากันหลายต่อหลายครั้งแล้ว
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2016 และ 2020 และนี่แสดงให้เห็นว่า รัสเซียยังคงเดินหน้าใช้ลูกเล่นเดิม ๆ ในการแทรกแซงสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) รายงานว่า “รัสเซียออกมาปล่อยโทรลและอินเทอร์เน็ตบอตอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ” และอ้างข้อมูลจากบริษัทวิจัยสื่อสังคมออนไลน์ 3 แห่ง อันได้แก่ Recorded Future และ Graphika รวมทั้ง Mondiant เพื่อระบุในรายงานนี้ว่า แผนงานของรัสเซียนั้นใช้บัญชีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ปลอม “ทำตัวเป็นว่าเป็นชาวอเมริกันที่โกรธเกรี้ยว” เพื่อทำการ “เติมเชื้อเพลิงเข้าไปในประเด็นวัฒนธรรมและการเมืองที่อยู่ในภาวะแตกแยกที่สุดในประเทศในเวลานี้”
สถานี Channel 1 เลือกที่จะเล่นประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปดำเนินมาตรการลงโทษต่อเศรษฐกิจของรัสเซียจากกรณีที่ส่งกองทัพรุกรานยูเครน
ผู้ดำเนินรายการของสถานีนี้ระบุในการนำเสนอรายงานข่าวเท็จเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนว่า “การเลือกตั้งกลางเทอมจะกำหนดอนาคตของระบบการเมืองสหรัฐฯ ซึ่ง ดิฉันขอย้ำว่า ใกล้ถึงจุดระเบิดแล้ว” และว่า “ในอเมริกา ภาวะเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี มีเรื่องการว่างงาน ราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคก็พุ่งสูง จึงเป็นช่วงต่อสู้ให้อยู่รอด”
เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า แผนการแทรกแซงครั้งนี้ของรัสเซีย “มีขนาดเล็กกว่าเมื่อตอนมีการเลือกตั้งปี 2016” และใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า เช่น แก๊บ (Gab) พาร์เลอร์ (Parler) และ เก็ตเตอร์ (Getter) แต่ก็ยัง “สามารถจับความสนใจของผู้ชมผ่านกระบวนการสร้างอิทธิพลที่มีการพุ่งเป้าเจาะจงมากขึ้น เพราะผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้มักเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยมที่น่าจะเปิดใจยอมรับคำกล่าวอ้างที่อิงทฤษฎีสมคบคิดมากกว่ากลุ่มอื่น”
กลุ่มตรวจสอบความมั่นคงทางไซเบอร์ Recorded Future รายงานว่า บัญชีผู้ใช้งานที่ทำหน้าที่แทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน Internet Research Agency ซึ่งตั้งอยู่ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “ฟาร์มผลิตโทรล” ของรัสเซียซึ่งเป็นของ เยเวเกนี พริโกชิน คนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจด้านการทหารที่ชื่อ แวกเนอร์ (Wagner) ที่ส่งทหารรับจ้างเข้าไปร่วมรบในยูเครน
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้อง พริโกชิน และฟาร์มผลิตโทรลรวมทั้งพนักงานของนักธุรกิจรายนี้ไปแล้ว ในข้อหาทำการแทรกแซงด้วยจุดประสงค์มุ่งร้ายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. 2016 แต่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้เอง พริโกชิน เพิ่งออกมาคุยโอ่ว่า ได้เข้าแทรกซึมเข้าไปในการเมืองสหรัฐฯ แล้ว และว่า ตนจะไม่ยอมหยุดเป็นอันขาด
พริโกชิน ระบุในข้อความที่แผนกสื่อของเขานำมาเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า “ท่านสุภาพบุรุษ เราทำการแทรกแซงแล้ว เรากำลังแทรกแซงและเราจะแทรกแซง(ต่อไป) ด้วยความระมัดระวัง ความแม่นยำเหมือนแพทย์ผ่าตัดในแบบของเรา ที่เรารู้วิธีการเป็นอย่างดี ... ในปฏิบัติการปักหมุดของนั้น เราได้จัดการผ่าเอาไตและตับออกมาพร้อมกันทีเดียวแล้ว”
หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า คำแถลงของ พริโกชิน “เน้นย้ำจุดหมายของปฏิบัติการแทรกแซงที่ว่านี้” ซึ่งก็คือ “สิ่งที่สำคัญนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นกรณีที่ว่า การแทรกแซงนั้นจะต้องประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญเสมอ” และว่า “ส่วนที่สำคัญของการเดินหน้าปฏิบัติการนั้นก็คือ การสร้างความเคลือบแคลงใจอย่างหนักต่อสถาบันระบอบประชาธิปไตย – ด้วยความสามารถและการสร้างอิทธิพลในวงกว้าง เป็นอย่างต่ำ”
ในส่วนของทหารรับจ้างของ แวกเนอร์ นั้น คนเหล่านี้เพิ่งถูกกล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมสงครามในซีเรียและยูเครน ขณะที่ ตัวบริษัทแห่งนี้เองกำลังเปิดศูนย์ฝึกใหม่ ๆ หลายแห่งในพื้นที่ประเทศรัสเซียที่อยู่ติดชายแดนยูเครน ตามรายงานของสถาบันสงครามศึกษา (Institute for the Study of War) ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน
สถาบันคลังสมองแห่งนี้ระบุด้วยว่า พริโกชิน ซึ่งเพิ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความสามารถในการทำสงครามของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย น่าจะกำลัง “พยายามขยายฐานอำนาจที่ใช้ธุรกิจบริษัท แวกเนอร์ เป็นตัวขับเคลื่อน ในพื้นที่ประเทศรัสเซีย พร้อม ๆ กับการลอบสร้างความเสียหายให้กับปฏิบัติการทำสงครามของรัสเซียที่มีความเป็นปึกแผ่นอยู่ดีให้แย่ลงไปด้วย”
สถาบันแห่งนี้ยังกล่าวว่า “พริโกชินยังคงเดินหน้าแสดงตนว่าเป็น ผู้มีอำนาจของรัสเซียในด้านกิจการระหว่างประเทศ ด้วยการขยายบทบาทของตนเองในการแทรกแซงการเลือกตั้ง” ต่อไป
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ