Your browser doesn’t support HTML5
ซานฟรานซิสโกได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของโลก แต่เมื่อไม่นานมานี้ ซานฟรานซิสโกกลับเป็นเมืองแรกในสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ตำรวจและหน่วยงานของรัฐฯ ใช้เทคโนโลยี Facial Recognition หรือเทคโนโลยี “จดจำใบหน้า” โดยผู้ที่สนับสนุนมาตรการนี้กล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพของประชาชน
นายเนธาน เชียร์ด ผู้จัดกิจกรรมรณรงค์ระดับรากหญ้า ของมูลนิธิ Electronic Frontier Foundation กล่าวกับวีโอเอว่า เทคโนโลยีนี้ทำให้หลายคนกังวลเรื่องผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก
“ด้วยเหตุที่เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐฯ สามารถแทรค หรือติดตามพลเมืองได้ อาจจะมีผลกระทบต่อสิทธิในการแสดงออกของประชาชน ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 หรือ First Amendment ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้หลายคนกังวลใจมาก”
ในขณะที่ซานฟรานซิสโกออกกฎหมายออกมาห้ามใช้เทคโนโลยี Facial Recognition ในฝั่งของจีน กลับมีการเอาไปใช้งานด้านความมั่นคงในประเทศอย่างแพร่หลาย ถึงขนาดมีการเอาไปใช้ในการแจกจ่ายกระดาษชำระในห้องน้ำสาธารณะ
เทคโนโลยี Facial Recognition นี้ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ก็ได้เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาต่อยอดให้ก้าวหน้าล้ำลึกไปมาก
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของของสหรัฐฯ อย่าง แอบเปิ้ล ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่นำเอาเทคโนโลยี "จดจำใบหน้า” มาใช้เป็นกลไกในการปลดล็อคโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นล่าสุด บริษัท อี คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง แอมะซอน ก็ใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นของ แอมะซอน ได้เคยมีการลงมติเพื่อจำกัดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว แต่ก็ไร้ผลทั้งสองครั้ง
สภาคองเกรส หรือรัฐสภาของสหรัฐฯ กำลังมีการประเมินกันอยู่ว่า เทคโนโลยี Facial Recognition มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพพลเมืองอย่างไรบ้าง ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ เทคโนโลยีนี้กล่าวว่า บางครั้งมีปัญหาในการนำเทคโนโลยี "จดจำใบหน้า” ไปใช้ โดยเฉพาะในการใช้แยกแยะใบหน้าของผู้หญิง และคนผิวสี
จอย บูว์ลัมวีนี ผู้ก่อตั้ง Algorithmic Justice League องค์กรที่ส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence อย่างมีจริยธรรม กล่าวต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ว่าควรจะมีการยับยั้งการใช้ เทคโนโลยี Facial Recognition จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบ
“อย่างน้อยคองเกรสน่าจะออกกฎยับยั้งไม่ให้ตำรวจใช้เทคโนโลยี Facial Recognition ชั่วคราว เพราะว่ามีการเอาไปใช้ในทางที่ผิด ขาดการควบคุมดูแล และยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้มีความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้านำมาใช้กับกลุ่มคนชายขอบ หรือชุมชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม”
ในขณะที่มีเสียงต่อต้าน ก็มีอีกกลุ่มที่สนับสนุนการใช้ Facial Recognition โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทำงานด้านไบโอเมทริคส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูง ที่นำข้อมูลทางชีวภาพมาใช้ในการตรวจสิทธิหรือแสดงตน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพหรือพฤติกรรม โดยคนกลุ่มนี้บอกว่า เทคโนโลยี “จดจำใบหน้า” มีประโยชน์มากต่อมนุษยชาติ
นายบรูซ แฮนสัน ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท Credence ID กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ผู้ร้ายที่น่ากลัว
“ยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญและน่าตื่นเต้นของไบโอเมทริคส์ ภาพลักษณ์หรือความคิดที่ว่าเทคโนโลยีนี้ เป็นผู้ร้าย หรือจะทำให้สังคมกลายเป็นโลกมืดที่ผู้คนถูกรัฐฯ กดขี่ เป็นการเข้าใจผิด”
บริษัทของนายแฮนสัน ใช้ เทคโนโลยี “จดจำใบหน้า” และ ไบโอเมทริคส์อื่น ๆ เช่น การพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อช่วยระบุตัวบุคคลในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อให้คนเหล่านั้นเข้าถึงปัจจัยสำคัญ เช่น อาหาร ยา อุปกรณ์การแพทย์ หรือนมผงสำหรับทารก เขาคิดว่าการที่ซานฟรานซิสโกออกกฎหมายห้ามใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไป
เขาเห็นว่า “การออกกฎหมายห้ามแบบนั้นเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะควรจะมีการพิจารณาดูก่อนว่ามีการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ในลักษณะไหนบ้าง ควรจะมีการถกเถียงกันว่าเราจะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีแบบนี้ได้หรือไม่ หรือว่าเราอยากจะอยู่ในสังคมที่มีแต่ความหวาดระแวง การห้ามใช้เทคโนโลยีอย่าง Facial Recognition และ ไบโอเมทริคส์ ก็เหมือนกับการห้ามไม่ให้ใช้อินเตอร์เน็ต เพราะก็มีคนใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ไม่ดีเช่นกัน”
ขณะนี้ เมืองอื่น ๆ ในสหรัฐฯ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะออกมาตรการห้ามใช้ Facial Recognition ตามรอย ซานฟรานซิสโก หรือไม่ ในขณะที่บริษัท องค์กรต่าง ๆ หรือแม้แต้รัฐบาลหลายประเทศ กำลังหาทางนำเอาเทคโนโลยีเดียวกันนี้มาใช้ในด้านอื่น ๆ มากขึ้น
การนำเอาเทคโนโลยี Facial Recognition มีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน สิ่งที่ยังไม่มีใครรู้ตอนนี้ก็คือว่า การออกกฎหมายห้าม จะไล่ทันการนำเอาไปใช้หรือไม่